บริษัทกฎหมายที่ปรึกษาทักษิณเผยกลุ่มนปช.เตรียมบันทึกภาพการละเมิดสิทธิฯ หวั่นสลายการชุมนุม

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 13, 2010 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เปิดเผยว่า แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ติดตั้งกล้องวิดีโอจำนวนมากและเครื่องมืออื่นๆในการติดตามความเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจของไทย

อัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทกฎหมายที่ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมว่าทางบริษัทได้รับการว่าจ้างจากทักษิณให้ช่วยเหลือด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมกลุ่มนปช.นั้น อ้างว่ามีความเป็นไปได้ที่กองทัพกำลังเตรียมการที่จะใช้กำลังสลายการชุมนุมซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรง

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา สื่อรายงานว่าทางการไทยเตรียมตัดน้ำ ตัดไฟ และมิให้มีการลำเลียงอาหารเข้าสู่พื้นที่ชุมนุม ขณะเดียวกันก็มีการจัดเตรียมกองกำลังด้วย

อัมสเตอร์ดัมกล่าวว่ารัฐบาลไทยได้ลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ของสหประชาชาติ ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องทราบถึงหลักสากลเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต (sanctity of human right) สิทธิขั้นพื้นฐาน และตัวแปรในการปฏิบัติต่อประชาชน โดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมืองได้กำหนดเงื่อนไขของการประกาศภาวะฉุกเฉินภายใต้มาตรา 4 ไว้ว่า “ไม่สามารถยกเลิกบทกฎหมายเพียงบางส่วนจากมาตรา 6, 7, 8 (ย่อหน้า 1 และ 2), 11, 15, 16 และ 18 ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน”

อัมสเตอร์ดัมกล่าวว่ายังไม่มีสถานการณ์ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากอาวุธเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศเข้มงวดมากกับเรื่องนี้ ถึงกระนั้นหากกองทัพใช้กำลังโดยการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พวกเขาต้องทำตามข้อกำหนดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน อาทิ การคุ้มครองชีวิต รวมถึงการปฏิบัติตามหลักแห่งความได้สัดส่วน (principle of proportionality) ระหว่างปฏิบัติการทางทหาร อัมสเตอร์ดัมกล่าวต่อไปว่าข้อกำหนดเหล่านี้เกิดขึ้นจากคำตัดสินหลายครั้งของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (ECHR) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อให้การปฏิบัติการทางทหารเพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

“เราขอสนับสนุนทุกฝ่ายที่หาทางแก้ปัญหาในประเทศไทยด้วยสันติวิธี และขอย้ำว่าการหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุความรุนแรงอย่างเมื่อวันที่ 10 เมษายนซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 25 คนนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน” อัมสเตอร์ดัมกล่าว “เราขอยืนยันว่ากองทัพไทยต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่อย่างได้สัดส่วนและเคารพในหลักความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต และการประกาศภาวะฉุกเฉินมิได้หมายความว่ากองทัพจะสามารถเพิกเฉยต่อหลักปฏิบัติที่สำคัญนี้ได้”


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ