นายกฯเผยกลไกลการปฏิรูปประเทศไทยตามแผนปรองดองเสร็จภายใน พ.ค.นี้

ข่าวการเมือง Thursday May 13, 2010 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า แนวทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยตามแนวทางของแผนปรองดอง 5 ข้อนั้น โอกาสยากที่จะเสร็จในรัฐบาลนี้ แต่ยังคงเดินหน้าที่จะตั้งกลไกการปฏิรูปประเทศไทยให้ได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้เพื่อที่จะเป็นกลไกให้รัฐบาลใหม่สามารถดำเนินการได้ต่อ แต่ยังมั่นใจว่ารัฐบาลยังมีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินตามแผนปฏิรูปประเทศไทย

"อยากให้กลไกการปฏิรูปเสร็จภายในสิ้นเดือน อยากให้ได้กลไกภายในสิ้นเดือน แต่งานนี้ไม่มีทางเสร็จในรัฐบาลเดียว กลไกที่ตั้งขึ้นมาต้องสามารถข้ามไปอีกรัฐบาลนึงได้ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะรัฐบาลนี้ยังมีเวลาพอสมควร แม้เราได้ตัดระยะเวลาในการยุบสภาไปแล้ว เค้าไม่ยอมเอง"นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แผนการปฏิรูปประเทศไทยเป็นหัวใจสคัญของแผนปรองดอง เพราะถือว่าจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มักถูกหยิบยกมาเสมอที่มีการชุมนุมทางการเมือง และเชื่อว่าในขณะนี้ขบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดำเนินการมาสักระยะหนึ่งแล้ว และมั่นใจว่าหากแผนปฏิรูปประเทศไทยเกิดขึ้นได้ก็จะไม่มีเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมได้อีก

ในส่วนของกลไกนั้น อยากให้มีการเชื่อมโยงกับการทำงานในส่วนของภาครัฐมากขึ้น นอกจากนี้ให้คณะกรรมการปฏิรูป จะมีสภาพัฒน์เป็นหน่วยงานหลักที่จะเข้ามาดูแลเรื่องกลไกของการปฏิรูปประเทศไทยและหวังว่าจะสามารถเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมเพื่อให้กลไกต่างๆสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

ในส่วนของการหารือในข้อประเด็น แนวทางการดำเนินการ และวิธีการเพื่อปฏิรูปประเทศไทยเพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ยอมรับว่าในส่วนของภาพรวมประเทศไทย เรื่องถือว่าสวัสดิการถือว่าทุกคนควรจะได้รับ ถือเป็นเรื่องระดับชาติ ชุมชนท้องถิ่นถือเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนของสวัสดิการเพราะรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้มีการพัฒนาการระบบสวสัดิการคนไทยในรูปแบบบูรณาการให้ได้ ซึ่งตามเป้าหมายคือ ปี 2559 แต่อยากให้เกิดขึ้นเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่นถือเป็นหัวใจหลักที่รัฐบาลอยากให้มีการดำเนินการ เรื่องหลักประกันสังคมรัฐบาลก็พยายามจะทำอย่างเต็มที่ที่ให้ทุกคนได้มีหลักประกันสังคม ในส่วนของบุคคลที่ไม่อยู่ในระบบหลักประกันสังคม แม้ว่ามีปัญหาเรื่องแรงงานนอกระบบหรือแรงงานต่างด้าวบ้าง

ส่วนการปรับปรุงเรื่องภาษีที่ดินและทรัพย์สินนั้น ยังมีปัญหาในเรื่องของรูปแบบ การบริหารจัดการ กฎระเบียบ และการทุจริตคอรัปชั่น โดยรัฐบาลพยายามจะยืดหยุ่นรูปแบบการบริหารให้สามารถดำเนินการเรื่องการจัดทำภาษีที่ดินได้ง่ายยิ่งขึ้น

ในส่วนของปัญหาการทุจริต รัฐบาลยืนยันนโยบายพร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทั้งในสระดับท้องถิ่น และระดับต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ