นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า โอกาสที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)จะยุติการชุมนุมก็ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ และประชาชนก็ยังหวังให้เป็นเช่นนั้น แต่เมื่อสิ้นสุดการชุมนุมแล้วก็ควรจะเข้าสู่กระบวนการปรองดองอย่างจริงจังต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางการยังไม่ได้มีการเจรจากับแกนนำนปช.หรือกลุ่มเสื้อแดงหลังจากปฏิเสธที่จะยุติการชุมนุม หากยังยืนยันจะชุมนุมที่แยกราชประสงค์ต่อไปนั้นก็จะไม่มีการเจรจาใดๆ ร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มนปช. ส่วนการประสานงานระหว่างนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกับทาง นปช.นั้นยังคงมีอยู่ แต่ไม่ใช่ลักษณะของการเจรจา
"การเจรจาของนายกอร์ปศักดิ์กับ นปช.ยังมีอยู่บางส่วน แต่ไม่ใช่การเจรจา จุดยืนชัดเจนข้อเสนอเสนอไปแล้ว ให้เวลาแล้วหลายวัน และนปช.ปฏิเสธไปแล้วเพราะไม่ยุติการชุมนุม การเจรจาก็คงจบไปก่อน ขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาอีก" นายปณิธาน ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์เมื่อช่วงเช้า
ทั้งนี้ ทางการมีแผนจะประสานเพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนทุกคน ตลอดจนการอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมที่ต้องการจะเดินทางกลับภูมิลำเนา การตรวจสอบพื้นที่ชุมนุม การเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพื่อความยุติธรรม แต่แผนการเหล่านี้ไม่สามารถเดินได้ เพราะมีการปฏิเสธที่จะเข้าสูกระบวนการยุติการชุมนุม
นายปณิธาน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเห็นว่า นปช.มีเจตนาจะไม่เข้าสู่กระบวนการปรองดอง แต่ยังหวังว่าการพูดคุยทำความเข้าใจจะเกิดขึ้น และรัฐบาลก็พร้อมทำให้เหตุการณ์เหล่านี้ยุติได้โดยสันติ แต่ต้องขึ้นกับ นปช.จะตัดสินใจด้วย ถ้าไม่ตัดสินใจ รัฐบาลก็มีขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังประเมินเพื่อขอคืนพื้นที่ราชประสงค์ในที่สุด
สำหรับการจะเจรจาเพื่อขอประกันตัวในกรณีที่แกนนำ นปช.จะเข้ามอบตัวนั้น นายปณิธาน ระบุว่า หลักเกณฑ์แรกที่ชัดเจนที่สุด คือละเว้นการเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้มี 2 มาตรฐาน ต้องปล่อยให้ดำเนินการไปตามนั้น
"ถ้าระบุให้ทำตามนั้นตามนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน สามารถมองได้หลายมุมมอง แต่กระบวนการไม่ใช่เรื่องซับซ้อน การยุติชุมนุมเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง ถ้าไม่ยุติ คนก็คิดว่าจะปรองดองไม่ได้" นายปณิธาน กล่าว
อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีจุดยืนที่จะทำงานร่วมกันต่อไป แม้รัฐบาลก็ได้ปรับลดวาระการทำงานลงปีเศษ แต่ทำให้ในประเทศและต่างประเทศเข้าใจได้ว่ามีการทำงานชัดเจนและหลักการชัดเจน ส่วนนปช.ก็เข้าใจว่ามีขั้นตอนทำงาน แม้เงื่อนไขก็เปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งเมื่อตัดสินใจจะไม่ยุติชุมนุมที่แยกราชประสงค์ นายกรัฐมนตรีก็ยังเดินหน้าตามแผนการปรองดองต่อไป เพียงแต่เรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้นถือเป็นดุลยพินิจและการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีเอง