ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)แถลงว่า หลังจากหารือในช่วงบ่ายวันนี้ ศอฉ.ตัดสินใจว่ายังไม่จำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ กทม.เนื่องจากเกรงผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนโดยทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้อง และทางเจ้าหน้าที่ยังสามารถดูแลสถานการณ์ได้ นอกจากนั้น ศอฉ.ยังได้กล่าวขออภัยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่นำมาใช้ในการปฏิบัติการกดดันผู้ชุมนุม
พล.ท.อัครา เกิดผล ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศอฉ.ยังไม่ประกาศเคอร์ฟิวในห้วงเวลานี้ เพราะถือว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ยกเว้นหากมีเหตุการณ์ที่จำเป็น ทาง ศอฉ.จะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
"ศอฉ.ยังไม่มีการประกาศใช้เคอร์ฟิวในห้วงเวลานี้ เนื่องจากยังสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ยกเว้นมีสถานการณ์หรือความจำเป็น ศอฉ.จะมีการประเมินและจะประกาศให้ทราบต่อไป"พล.ท.อัครา กล่าว
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการทำงานของกองทัพทุกเหล่า ยังสามารถทำงานประสานกันได้อย่างแน่นแฟ้น
ด้าน นาวาเอกประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการ กองทัพเรือ เปิดเผยว่า กองทัพเรือได้รับมอบหมายให้ดูแลบริเวณโดยรอบ โรงพยาบาลศิริราช และมีการตั้งด่านโดยรอบ ในพื้นที่ 500 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งด่านทำหน้าที่ตรวจค้นและเป็นจุดเฝ้าระวัง รวมถึงจัดหน่วยเรือลาดตระเวนทางน้ำ โดยจะทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ทั้งนี้ ทางกองทัพเรือจะดูแลในพื้นที่ 6 เขต ประกอบด้วย ธนบุรี คลองสาน จอมทอง ราษฎร์บูรณะ บางกอกน้อย และบางกอกใหญ่
ในส่วนของทหารอากาศ นาวาอากาศเอเก มณฑล สัชฌุกร รองเจ้ากรมกิจการทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศได้ทำงานร่วมกับกองทัพบก ในการจัดกองร้อยดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลทั้งหมดตั้งแต่ 12 มีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งทางกองทัพอากาศได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่สายไหม จัดตั้งด่านร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการจัดรถจักรยานยนต์เคลื่อนที่เร็ว เพื่อดูแลบริเวณโดยรอบเขตพื้นที่สายไหม และทางยกระดับโทลเวย์
พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการตำรวจ กล่าวว่า ทางรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งการให้ รพ.ตำรวจจัดทีมแพทย์เข้าไปดูแลพื้นที่การชุมนุม ซึ่งในขณะนี้ได้ประสานทางแกนนำ นปช.แล้ว ในส่วนของตำรวจจะทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและติดตามในกรณีคดีความที่ขัดต่อการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวมถึงคดีอาญาต่างๆ พร้อมทั้งดูแลบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ทั่วๆไป