เปิดโทรทัศน์วันนี้ ภาพที่ปรากฏหน้าจอไม่ต่างอะไรไปจากหนังสงครามที่เคยสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ เพียงถ้าภาพที่มองเห็นตรงหน้าไม่ใช่เหตุการณ์สมมติ ผู้คนที่เห็นในจอก็ไม่ใช่ตัวละครหรือตัวแสดงแทน เสียงปืน เขม่าควัน เลือดที่ไหลนองไม่ใช่เอฟเฟกต์ แต่ทุกอย่างเป็นของจริง และที่ยิ่งน่าเศร้าใจไปกว่านั้นก็คือ ภาพที่ปรากฏแก่สายตานั้นคือ กรุงเทพมหานคร บ้านของชาวไทยกว่า 5.7 ล้านคน
ในขณะที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯพัฒนาไปสู่ความเป็นสงครามกลางเมือง ดินแดนหนึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเรานักก็มีเหตุการณ์ประท้วงเกิดขึ้นในช่วงเดือนสองเดือนนี้เช่นกัน แต่ด้วยแนวทางและจุดประสงค์ในการเคลื่อนไหวที่แตกต่างจากบ้านเราลิบลับ
โอกินาวา ความทรงจำอันแสนโหดร้ายจากสมรภูมิรบในสงครามโลกครั้งที่สอง
จังหวัดโอกินาวา เป็นหมู่เกาะทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ในอดีตคืออาณาจักรริวกิวที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมถึงไทย ต่อมาจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานและยึดครองเป็นประเทศราช จนกระทั่งญี่ปุ่นเริ่มรุกรานเอเชียและบุกเข้าทำสงครามกับจีน อาณาจักรริวกิวก็ถูกลดสถานะของเมืองประเทศราชลงให้เป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น และได้มีการประกาศยกเลิกอาณาจักริวกิว ให้กลายเป็นจังหวัดโอกินาวาในที่สุด
ญี่ปุ่นใช้โอกินาวาเป็นเมืองหน้าด่านในการติดต่อค้าขายตั้งแต่สมัยเมจิ จวบจนกระทั่งเมื่อญี่ปุ่นนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ ญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในสงครามโลกครั้งที่สอง จ.โอกินาวาก็ต้องถูกแปรสภาพกลายเป็นสมรภูมิรบ พลเรือนที่ถูกเกณฑ์ไปสู้รบก็ต้องสังเวยชีวิตในสงคราม
อย่างไรก็ตาม สงครามได้ฝากรอยแผลลึกให้กับโอกินาวา และแม้พยายามเท่าไหร่ก็ดูเหมือนจะไม่มีทางลบรอยแผลนั้นให้หายไปได้ เมื่อญี่ปุ่นซึ่งเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้าจากลงครามโลกครั้งที่สอง ได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก (San Francisco Peace Treaty) ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2494 เพื่อแสดงถึงการยอมแพ้สงคราม ส่งผลให้โอกินาวาตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐ เนื่องจากข้อตกลงความมั่นคงดังกล่าวอนุญาตให้สหรัฐสามารถคงกองกำลังในญี่ปุ่นต่อไปได้โดยใช้โอกินาวาเป็นฐานทัพ
จังหวัดโอกินาวา ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงโตเกียว 1,600 กิโลเมตร มีพื้นที่บนบกคิดเป็นเพียง 0.6% ของพื้นที่บนบกทั้งหมดของญี่ปุ่น แต่กลับเป็นสถานที่ตั้งเกือบ 3 ใน 4 ของฐานทัพสหรัฐในญี่ปุ่น ชาวโอกินาวาได้อดทนแบกรับเหตุการณ์ต่างๆร่วมกัน ทั้งอาชญากรรมและมลพิษ ในระหว่างที่พวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกับทหารอเมริกัน
โดยเหตุการณ์ที่สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้ชาวโอกินาวามากที่สุดคือ คดีที่ทหารช่างอเมริกัน 3 นายข่มขืนเด็กหญิงชาวญี่ปุ่นวัย 12 ปีคนหนึ่ง ขณะที่เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์พุ่งชนอาคารมหาวิทยาลัยก็ยังคงแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำของชาวโอกินาวาอีกเป็นจำนวนมาก
“ตอนแรก ผมคิดว่าเกิดแผ่นดินไหว แต่ไม่นานก็รู้ว่าแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นนั้นมาจากไหน" ชินฮิโกะ ทาวาดะ คนขับรสบัสวัย 51 ปี ชาวเมืองกิโนวาน จ.โอกินาวา รำลึกถึงวินาทีที่เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือสหรัฐพุ่งชนตึกหลังหนึ่งของมหาวิทยาลัยนานาชาติโอกินาวาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2547 โดยขณะเกิดเหตุ ทาวาดะกำลังชมเกมเบสบอลทางทีวีที่บ้านของเขาซึ่งตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย และ Futemma Air Station ของกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งแม่ว่าไม่มีใครบนพื้นดินเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ แต่บ้านของทาวาดะได้รับความเสียหายบางส่วนจากเศษซากปรักหักพังที่หล่นลงมาใส่
ความทรงจำที่เลวร้ายอันเกี่ยวเนื่องกับฐานทัพสหรัฐที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านที่อยู่อาศัย ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ชาวโอกินาวาจำนวนมากพยายามเรียกร้องให้มีการย้าย Futemma Air Station ออกไปจากจังหวัดของพวกเขา
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประชาชนราว 17,000 คนจับมือกันเป็นห่วงโซ่มนุษย์ล้อมรอบ Futemma Air Station ในเมืองกิโนวาน ทางตอนกลางของเกาะโอกินาวา เพื่อต่อต้านแผนการย้ายฐานทัพจากกิโนวานไปยังเมืองอื่นในจังหวัดเดียวกัน
นายโยอิจิ อิฮะ นายกเทศมนตรีเมืองกิโนวาน และนายสึสึมุ อินามิเนะ นายกเทศมนตรีเมืองนาโกะ ได้เข้าร่วมการประท้วงในครั้งนี้ด้วย แม้ว่าจะมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงก็ตาม โดยทั้งคู่ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกลางระงับแผนย้ายฐานทัพสหรัฐไปยังเขตเฮโนโกะในเมืองนาโกะ
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 5 แล้วที่ชาวบ้านได้ทำห่วงโซ่มนุษย์เพื่อต่อต้านฐานทัพสหรัฐ หลังจากที่ชาวบ้านและนักการเมืองท้องถิ่นประมาณ 90,000 คนในโอกินาวาได้ร่วมชุมนุมกันเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องการย้ายฐานทัพออกไปให้พ้นจากจังหวัด
มาซาโกะ ฮิรายามะ แม่ชีวัย 76 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ห่วงโซ่มนุษย์" ครั้งนี้ กล่าวว่า “สำหรับโอกินาวาที่ซึ่งประชาชนถูกเข่นฆ่าในสมรภูมิรบระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง นี่ถือเป็นความปรารถนาอันยาวนานที่จะได้เห็นฐานทัพเหล่านี้หายไป"
“นายกรัฐมนตรี ยูกิโอะ ฮาโตยามะ กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะคงฐานทัพไว้ แต่ดิฉันต้องการให้ท่านนายกฯปกป้องญี่ปุ่นด้วยรัฐธรรมนูญแห่งสันติของเรา ไม่ใช่ด้วยกองกำลัง" คุณยายกล่าว
ขณะที่ จิซาโตะ โยเฮนะ เด็กนักเรียนชั้นป.5 วัย 10 ปีจากโรงเรียนประถม Futemma No. 2 Primary School ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับฐานทัพ กล่าวว่า “บางครั้งเราก็ไม่ได้ยินที่ครูสอน เพราะเสียงเครื่องบินดังกลบ ตอนนี้มีฐานทัพในโอกินาวาอยู่มากมายหลายแห่งแล้ว ผมจึงอยากให้ Futemma Air Station ย้ายไปอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่ในโอกินาวา"
ข้อมูล ณ ปี 2551 ของรัฐบาลจ.โอกินาวาระบุว่า โอกินาวาเป็นสถานที่ตั้งฐานทัพสหรัฐ 34 แห่ง และเป็นที่ประจำการของเจ้าหน้าที่ทหารอเมริกัน U.S. military personnel ราว 21,200 นาย หรือคิดเป็น 63% ของทหารอเมริกันทั้งหมดในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นและสหรัฐได้ทำข้อตกลงความมั่นคงร่วมกันในปี พ.ศ.2549 ซึ่งรวมถึงการโยกย้ายลานขึ้นลงของเฮลิคอปเตอร์ที่ Futemma Air Station ไปยังพื้นที่ชายฝั่งของเมืองนาโกะ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของโอกินาวา จากปัจจุบันที่ตั้งอยู่ในเมืองกิโนวาน ทางตอนกลางที่มีประชาชนอยู่หนาแน่น โดยจะมีการถมทะเลเพื่อใช้สำหรับสร้างรันเวย์ใหม่สองเลนเป็นรูปตัววี
การทำข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ยังครองอำนาจในรัฐบาลญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบันซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (ดีพีเจ) กำลังพยายามเสนอแผนการฉบับแก้ไขต่อสหรัฐอเมริกา โดยจะเปลี่ยนไปสร้างรันเวย์เดี่ยวระยะทาง 1,800 เมตรที่ฐานทัพซึ่งจะตั้งอยู่ในเขตน้ำตื้นนอกชายฝั่งของเมืองนาโกะ และจะย้ายสถานที่ฝึกรบบางส่วนของหน่วยเฮลิคอปเตอร์ใน Futemma ไปยังเกาะโตกุโนชิม่า ในจ.คาโกชิม่าที่อยู่ใกล้เคียง รวมถึงทำเลอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐเห็นว่าแผนการเดิมดีที่สุดแล้ว โดยอ้างเหตุผลว่าแผนการที่ญี่ปุ่นเสนอมาใหม่มีความเสี่ยงว่าจะถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีได้ง่าย รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ นายกฯญี่ปุ่นกำลังถูกบีบจากทั้งโอกินาวาและสหรัฐอเมริกาให้หาทางออกที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนี้ โดยสหรัฐต้องการให้การย้ายฐานทัพครั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำร่วมกันไว้เมื่อปี 2549 ขณะที่ทางฝ่ายโอกินาวาก็แสดงการคัดค้านอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ แผนการใหม่นี้ยังต้องได้รับมติอย่างเป็นเอกฉันท์จากพรรคสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของดีพีเจด้วย
การเรียกร้องให้ย้าย Futemma Air Station มีมานานแล้ว แต่ที่มาร้อนแรงในช่วงนี้ก็เป็นเพราะนายฮาโตยามะได้จุดประกายความหวังให้กับชาวโอกินาวาว่า เขาจะเจรจากับสหรัฐให้ล้มล้างข้อตกลงที่ทำกันไว้เมื่อปี 2006 แต่จะเสนอแผนการใหม่ให้ย้ายฐานทัพสหรัฐออกไปให้พ้นจากเกาะที่อยู่ใต้สุดของประเทศญี่ปุ่นแห่งนี้ ซึ่งการหาเสียงเช่นนี้ก็ช่วยให้พรรคดีพีเจของเขาสามารถกวาดชัยชนะเหนือพรรคแอลดีพีที่ครองอำนาจในรัฐบาลญี่ปุ่นมานานกว่า 50 ปีมาได้ในการเลือกตั้งทั่วไปในปีที่แล้ว
มิหนำซ้ำ ภายหลังเข้าทำหน้าที่หัวหน้ารัฐบาลเต็มตัว นายฮาโตยามะยังได้กำหนดเส้นตายกดดันตัวเองเข้าไปอีกว่า จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ภายในวันที่ 31 พ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยจะใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนเองเป็นเดิมพัน
แต่ล่าสุด นายกฯญี่ปุ่นออกมากล่าวแบบแบ่งรับแบ่งสู้แล้วว่า อาจไม่สามารถสรุปเรื่องการโยกย้ายฐานทัพสหรัฐได้ทันเส้นตายที่เขากำหนดไว้เองสิ้นเดือนนี้ แต่ยังยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้ความพยายามในการลดอุปสรรคต่างๆต่อไปหลังจากเลยกำหนดดังกล่าวไปแล้ว
มูเนโยชิ คาโย คุณตาวัย 87 ปีจากเมืองนาโกะ กล่าวว่า “ดีพีเจโกหก ผมแค่ไม่อยากให้ใครมาสร้างฐานทัพเพื่อทำสงคราม" โดยคาโย ซึ่งเคยถูกส่งไปรบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ร่วมนั่งประท้วงกับชาวเมืองคนอื่นเพื่อเรียกร้องให้มีการย้ายฐานทัพมาที่นาโกะ
ด้าน เคอิจิ อินามิเนะ อดีตผู้ว่าราชการจ.โอกินาวา ชี้ว่า คำมั่นสัญญาก่อนเลือกตั้งของนายฮาโตยามะได้ทำให้ชาวโอกินาวาคาดหวังกับเรื่องนี้ไว้สูง แต่ตอนนี้ ความหวังของพวกเขากำลังแปรเปลี่ยนไปเป็นความโกรธและความผิดหวัง พร้อมกับเตือนว่า ถ้าท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลย้ายฐานทัพไปไม่พ้นจากจ.โอกินาวา อารมณ์ที่คุกรุ่นอยู่แล้วของประชาชนก็อาจปะทุขึ้น โดยเปรียบเหมือนแม็กม่าไหลออกจากปล่องภูเขาไฟเลยทีเดียว
ขณะที่ทางฝั่งสหรัฐอเมริกานั้น จะส่งนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศ เดินทางมาเจรจาเรื่องนี้ด้วยตัวเองในวันที่ 21 พ.ค.นี้ หลังจากที่การพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทั้งสองฝ่ายประสบความล้มเหลว
การย้ายฐานทัพกำลังเป็นประเด็นใหญ่ ไม่เฉพาะสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในโอกินาวาเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลถึงอนาคตของรัฐบาลญี่ปุ่นชุดนี้ เห็นได้จากโพลล์ของสำนักข่าวจิจิ เพรส เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า คะแนนสนับสนุนรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายฮาโตยามะร่วงลงสู่ระดับ 19.1% จากระดับประมาณ 70% เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งนายกฯญี่ปุ่นในเดือนก.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะประชาชนไม่พอใจที่เขาไม่สามารถจัดการกับข้อพิพาทเรื่องฐานทัพตามที่เขาได้ให้สัญญาไว้
ขณะที่ผลสำรวจประชาชน 2,077 คนทางโทรศัพท์ซึ่งจัดทำในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยหนังสือพิมพ์ อาซาฮี ชิมบุน ก็ปรากฏว่า คะแนนสนับสนุนคณะรัฐมนตรีของนายฮาโตยามะลดลงมาอยู่ที่ 21% จากระดับ 25% ในการสำรวจเมื่อวันที่ 17-18 เม.ย. ส่วนคะแนนไม่เห็นชอบเพิ่มขึ้นจาก 61% มาอยู่ที่ 64%
ด้านนสพ.ไมนิจิ ชิมบุน เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,039 คนซึ่งจัดทำในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า คะแนนสนับสนุนรูดลงถึง 10% มาอยู่ที่ 23% ขณะที่คะแนนไม่สนับสนุนก็เพิ่มในอัตราเดียวกันมาอยู่ที่ 62%
ถ้าใครได้ดูมินิซีรีส์เรื่อง The Pacific จากผลงานการสร้างของ ทอม แฮงค์ส, สตีเว่น สปีลเบิร์ก และ แกรีย์ กูทซ์แมน ที่กำลังฉายทางช่อง HBO อยู่ในขณะนี้ จะได้เห็นภาพของทหารญี่ปุ่นที่พร้อมพลีชีพรักษามาตุภูมิจนเป็นที่เข็ดขยาดของทหารอเมริกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ญี่ปุ่นก็กลายเป็นประเทศที่ต่อต้านสงคราม และช่วยกันสร้างชาติจนกลับมาผงาดเป็นประเทศพัฒนาแล้วรายแรกและยังคงเป็นรายเดียวในเอเชีย
การต่อสู้ของชาวโอกินาวา ตลอดจนเรื่องราวใน The Pacific อาจไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์บ้านเมืองของไทยได้โดยตรง แต่ถึงกระนั้น ก็น่าจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงผลพวงอันเลวร้ายของสงครามจากผู้ที่เคยลิ้มรสความขมขื่นของการสู้รบมาแล้ว ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยเกิดความรักประเทศชาติ รักบ้านเกิดมากยิ่งขึ้น และตระหนักว่าไม่เคยมีใครเป็นผู้ชนะในสงครามอย่างแท้จริง