จู หลี่ จากสำนักข่าวซินหัวได้วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยว่า หนึ่งวันหลังเส้นตายที่รัฐบาลกำหนดให้กลุ่มคนเสื้อแดงสลายการชุมนุมภายในเวลา 15.00 น.ของวันอังคาร ตั้งแต่ช่วงเช้าทหารได้เริ่มเคลื่อนไหวกระชับพื้นที่ชุมนุมใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ชุมนุมมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่
หลังจากนั้นในช่วงบ่ายแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงได้ประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมเกิดความไม่พอใจจนเริ่มใช้ความรุนแรงและวางเพลิงในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการย้ำเตือนให้เห็นว่าวิกฤตการเมืองในประเทศไทยยังคงไม่จบลงง่ายๆ
ความหวังที่จะเจรจาอย่างสันติพังทลาย
รัฐบาลไทยโดยการนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุดนับตั้งแต่แกนนำประกาศว่าจะระดมคนเสื้อแดงให้ได้ 1 ล้านคนในวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์ "เทเลือด" หน้าทำเนียบรัฐบาลและบ้านพักของนายอภิสิทธิ์ รวมถึงเหตุการณ์ยึดแยกราชประสงค์ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจหลักแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ กลุ่มผู้ชุมนุมทดสอบความอดทนของรัฐบาลมาโดยตลอด ซึ่งรัฐบาลก็อดทนมากจนน่าประหลาดใจ
มีหลายครั้งที่กลุ่มคนเสื้อแดงดูเหมือนว่าใกล้จะได้รับชัยชนะ อย่างครั้งที่นายอภิสิทธิ์ยอมนั่งโต๊ะเจรจากับแกนนำเสื้อแดงเมื่อปลายดือนมีนาคม แต่การเจรจาก็ไม่ประสบผล เนื่องจากนายอภิสิทธิ์เสนอว่าจะยุบสภาในเดือนกันยายนและจัดการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน แต่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงกลับเรียกร้องมากขึ้น ส่งผลให้กำหนดการยุบสภาและแนวทางสร้างความปรองดอง 5 ข้อต้องพับไป
นักวิเคราะห์บางส่วนกล่าวว่า ความล้มเหลวในการปรองดองครั้งที่ 2 เกิดจากการที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงมีท่าทีและจุดยืนที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มแกนนำสายฮาร์ดคอร์ไม่ต้องการปรองดองกับรัฐบาล ขณะที่แกนนำร่วมอย่างนายวีระ มุสิกพงศ์ กำลังเจรจากับรัฐบาล
สลายการชุมนุม: กระชับพื้นที่ภายใต้แรงกดดัน
เมื่อความหวังในการปรองดองมอดลงอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ต้องพบกับแรงกดดันยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อในใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้การจราจรเป็นอัมพาต นอกจากนั้นยังทำลายกิจกรรมทางธุรกิจและการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ อย่างไม่มีชิ้นดี ขณะเดียวกันการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและเจ้าหน้าที่ทหารในวันที่ 10 เมษายนและตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองไทยในฐานะเมืองท่องเที่ยวถูกทำลายไปสิ้น
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยว่า การชุมนุมทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยหดตัวลงกว่า 0.5%
ด้านนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จำนวนผู้โดยสารขาเข้าที่สนามบินสุวรรณภูมิลดลงจากเฉลี่ย 30,000 คนต่อวัน เหลือเพียง 20,000 คนต่อวัน เนื่องจากชาวต่างชาติวิตกกับสถานการณ์ความวุ่นวายและความปลอดภัยในประเทศ และจนถึงตอนนี้มี 19 ประเทศที่ออกประกาศเตือนประชากรให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย
ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว เริ่มไม่พอใจกับความอ่อนแอของรัฐบาลในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
เมื่อถูกแรงกดดันให้ทำการสลายการชุมนุมและเชื่อว่ากลุ่มคนเสื้อแดงขาดความจริงใจในการเจรจาอย่างสันติ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์จึงประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมสลายการชุมนุมจากแยกราชประสงค์ก่อนจึงจะมีการเจรจาใดๆเกิดขึ้น แต่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงปฏิเสธที่จะทำตาม การใช้กำลังสลายการชุมนุมจึงเป็นทางเลือกเดียวของนายอภิสิทธิ์
การชุมนุมยุติ แต่วิกฤตยังอยู่
หลังจากที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงประกาศยุติการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจก็เริ่มทำการเผาห้างสรรพสินค้า ตลาดหลักทรัพย์ อาคารสำนักงาน รถเมล์ สถานีโทรทัศน์ ฯลฯ จนเกิดกลุ่มควันหนาแน่นปกคลุมท้องฟ้ากรุงเทพฯ ขณะที่เสียงปืนก็ดังกึกก้องไปทั่วเมืองหลวง รัฐบาลจึงตัดสินใจประเทศเคอร์ฟิวในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา
สื่อในประเทศไทยคาดว่าในช่วง 2-3 วันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่เห็นด้วยกับการที่แกนนำยุติการชุมนุมจะแก้แค้นให้กับผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตด้วยการโจมตีและสร้างความรุนแรง ซึ่งถือเป็นการยั่วยุและปลุกเร้าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มเสื้อแดง และสังคมไทยจะดิ่งลงสู่สภาวะที่อันตรายมาก
สื่อในไทยยังรายงานด้วยว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้จุดไฟเผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น และความโกรธแค้นของกลุ่มคนเสื้อแดงอาจขยายไปทั่วประเทศ
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ได้รับการยกย่องจากปฏิบัติการครั้งนี้แต่อย่างใด เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตกว่า 60 รายจากการสลายการชุมนุมนับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา และเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบนี้ไปได้ อนาคตทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์และรัฐบาลชุดนี้จึงดูมืดมน