ญัตติฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และ 5 รมต.

ข่าวการเมือง Monday May 24, 2010 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.แบบสัดส่วน พรรคเพื่อไทย(พท.) พร้อมคณะ ได้ยื่นญัตติต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีอีก 5 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง, นายกษิต ภิรมย์, นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม

เนื่องจากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้ง 5 คน กระทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และได้บริหาราชการแผ่นดินโดยไร้ประสิทธิภาพ ขาดภาวะการเป็นผู้นำ และวิสัยทัศน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ขาดคุณธรรม จริยธรรม ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย

"หากจะให้บริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติในทุกด้าน จะทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ซึ่งจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรงจนยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้" ญัตติของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุ

ญัตติดังกล่าว ระบุว่า นายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้บริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน, ขาดความรู้ความสามารถ, มีพฤติกรรมส่อว่าจงใจที่ไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้, กำกับ ควบคุม ดูแลการบริหารราชการแผ่นดินโดยไร้ประสิทธิภาพ, มีส่วนรู้เห็นและปล่อยปละละเลยให้รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลมีการทุจริต คอรัปชั่น แสวงหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินอย่างกว้างขวางเป็นไปในลักษณะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ,

มีการกำหนดนโยบายเพื่อการทุจริตและแสวงหาประโยชน์ในลักษณะของการทุจริตเชิงนโยบาย ตลอดจนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนการตรากฎหมายที่ได้จัดทำไว้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด, การบริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีความเสมอภาค ใช้อำนาจของรัฐโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ,

กระทำการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยเกินความจำเป็นจนกระทั่งกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ, มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยการสั่งทหารใช้อาวุธสงครามทุกชนิดเข้าทำการปราบปรามประชาชนหลายครั้งหลายคราว เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกายของประชาชนเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลให้พ้นจากการล่วงละเมิด,

"นายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกลับให้"หีบศพ"กับประชาชนร่วมร้อยศพ และบาดเจ็บทุพลภาพจำนวนมากอย่างที่รัฐบลพลเรือนของประเทศไทยและในต่างประเทศไม่เคยกระทำเช่นนี้กับประชาชนมาก่อน"เนื้อหาในญัตติฯ ระบุ

นอกจากนั้น ยังมีการใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล กระทำการสร้างความแตกแยกในสังคมให้ขยายวงกว้างขึ้น โดยกระทำการกลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสีให้ประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาฐานก่อการร้ายและอื่นๆ โดยไม่เป็นธรรม, กลั่นแกล้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ทำธุรกรรมในสถาบันการเงินโดยกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้าย แต่ละเลยและเว้นการปฏิบัติที่จะดำเนินคดีกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่กระทำผิดกฎหมายโดยการยึดสนามบินนานาชาติและทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น,

แนวนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินด้านการต่างประเทศและด้านเศรษฐกิจล้มเหลวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แผนการบริหารราชการแผ่นดินและแผนการตรากฎหมาย, ไร้วินัยการเงินการคลังมีการก่อหนี้ของรัฐโดยไม่ชอบ, ดำเนินการในเรื่องที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจนเป็นภัยพิบัติต่อประเทศและขัดขวางต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ

ก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.เฉลิม ได้ยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อประธานวุฒิสภา และเสนอชื่อตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

*ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 5 รัฐมนตรี

1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทนนายกรัฐมนตรีและในตำแหน่งหน้าที่ของตนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค.53 ในการสลายการชุมนุมของประชาชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก อันเป็นเหตุให้การสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ยังกระทำผิดต่อ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยใช้กำลังทหารเข้าไปข่มขู่คุกคามในสถานีไทยคมและทำการทำลายสัญญาณการสื่อสารโทรทัศน์อันถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการสื่อสารที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง รวมทั้งกระทำละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลโดยการออกคำสั่งห้ามสถาบันการเงินทำธุรกรรมกับบุคคลหรือนิติบุคคลรวม 106 คน

นอกจากนี้นายสุเทพ ยังแจงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.), กระทำการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติของประเทศด้วยการบุกรุกภูเขา, การออกโฉนดอันเป็นเอกสารสิทธิ์และเตรียมการจัดสรรที่ดินขายโดยไม่ชอบ เป็นต้น

2.นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้ดำเนินนโยบายการเงินการคลังและการงบประมาณของประเทศผิดพลาด บกพร่อง ไม่ดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2552-2554 และแผนนิติบัญญัติ พ.ศ.2552-2554 ที่กำหนดวิสัยทัศน์ว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืนและบรรเทาผลกระทบของประชาชน แต่ตรงกันข้ามกลับมุ่งแสวงการก่อหนี้สาธารณะ จนขณะนี้หนี้สาธารณะสูงเกินกว่า 60% ซึ่งการก่อหนี้เป็นภาระผูกพันต่อประเทศโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจและความจำเป็นในการใช้จ่ายภายในประเทศ, การขอออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท โดยไม่เป็นไปตามแผนนิติบัญญัติข้างต้น

การนำเงินที่ได้จากการกู้ไปดำเนินนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่รัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ทั้งที่โครงการแต่ละโครงการไม่ได้สร้างประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติ ส่งผลให้มีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินไปอย่างสูญเปล่า, มีทัศนคติในการบริหารราชการแผ่นดินที่ขาดธรรมาภิบาลและหลักความเป็นประชาธิปไตย ส่งเสริมวิธีการอื่นที่มิใช่วิถีทางในระบอบประชาธิปไตยโดยการชื่นชอบการปฏิวัติรัฐประหาร เป็นต้น

3.นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ มีพฤติกรรมข่มขู่ก้าวร้าวต่อมิตรประเทศ สร้างความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน มุ่งทำลายนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามทุกวิถีทาง โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรมและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่สามารถบริหารราชการตามแผนได้

นอกจากนี้ ได้กระทำการบริหารงานในหน้าที่ที่จะต้องปฎิบัติตามแผนล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถปฎิบัติตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินได้ในทุกข้อจนกระทั่งเกิดความล้มเหลวในการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้องตามแผนงานการเป็นประธานอาเซียนของไทย ทำให้ความร่วมมือในกรอบอาเซียนล้มเหลว และทำให้ประเทศขาดความน่าเชือถือต่อกลุ่มอาเซียนและต่อนานาประเทศทั่วโลก

4.นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รมว.มหาดไทย เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ส่องไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ และส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีให้บริษัทเครือญาติของตนเองเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐในหลายโครงการ โดยตนเองมีส่วนร่วมเข้าไปลงมติเห็นชอบกับโครงการดังกล่าวในฐานะรัฐมนตรี ส่งผลให้รัฐต้องจ่ายเงินมากกว่าที่ควรจ่ายหลายพันล้านบาท

นอกจากนี้ยังรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบเข้าโรงเรียนในอำเภอ แทรกแซงและแสวงหาประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ปล่อยปละละเลยหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมการปกคอรง อนุมัติให้มีการขออนุญาตจำหน่ายอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน เพื่อมุ่งแสวงหาประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว

5.นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม คือบริหารราชการโดยกำหนดนโยบายมุ่งแสวงหาประโยชน์ในทางทรัพย์สิน และประโยชน์ในทางการเมืองโดยไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้พวกพ้องหรือผู้สนับสนุนทางการเมืองของตนเองเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากโครงการที่ได้กำหนดขึ้น

มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงจากการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนที่เป็นพวกพ้องของตนเองและญาติของรัฐมนตรีในพรรคการเมืองตนเองได้ประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบจากการประมูลงานและเป็นคู่สัญญาของรัฐ ส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียเงินงบประมาณเกินกว่าความเป็นจริงหลายพันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ