เหตุเรือรบ “เชียวนัน" (Cheonan) ของเกาหลีใต้ เกิดอัปปางลงในทะเลเหลือง จนส่งผลให้มีลูกเรือเสียชีวิตถึง 46 รายเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมานั้น เกาหลีใต้ตั้งข้อสงสัยในทันทีว่าเป็นฝีมือของเกาหลีเหนือซึ่งเป็นคู่ปรับตลอดกาล แต่เกาหลีเหนือก็ออกมาปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกาหลีใต้ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเกาหลีเหนือเป็นผู้ยิงตอร์ปิโดใส่เรือรบเกาหลีใต้ จนทำให้เรือลำดังกล่าวอัปปางลง
โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันถึงมีความบาดหมางกันมาอย่างยาวนาน และทำไมทั้งสองประเทศซึ่งมีสายเลือดเดียวกันถึงต้องจ้องทำลายกันแบบไม่จบไม่สิ้นเช่นนี้
ต้นตอของความขัดแย้งระหว่างโสมแดงและโสมขาวเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงนั้นประเทศเกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครอง และเมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ประเทศเกาหลีก็เป็นอิสระ แต่ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศเกาหลีที่ด้านเหนืออยู่ติดกับประเทศจีนซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ส่วนทางใต้ติดกับญี่ปุ่นซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐอเมริกาที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส่งผลให้ประชากรในแต่ละพื้นที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป โดยประชากรส่วนที่อยู่ใกล้กับจีนก็เห็นว่าการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องดี ส่วนประชากรที่อยู่ใกล้กับญี่ปุ่นก็เห็นดีเห็นงามกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในที่สุดประเทศเกาหลีจึงถูกแบ่งแยกอย่างเป็นทางการด้วยระบอบการปกครองในปี พ.ศ.2491 อย่างไรก็ตาม เกาหลีส่วนที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์มีความหมายมั่นที่จะรวมชาติให้เป็นหนึ่ง แต่กลับใช้วีธีที่ไม่สมควรด้วยการส่งทหารเข้าไปบุกรุกเกาหลีส่วนที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สงครามเกาหลีจึงอุบัติขึ้น และส่งผลให้ประเทศเกาหลีแบ่งออกเป็นสองส่วน นั่นคือเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้
ทั้งสองเกาหลีเปิดฉากการรบเต็มรูปแบบครั้งแรกในพื้นที่คาบสมุทรเกาหลีในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 เมื่อกองทัพเกาหลีเหนือเคลื่อนพลเข้าโจมตีเกาหลีใต้ โดยผู้ที่ให้การสนับสนุนเกาหลีเหนือประกอบด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียต ส่วนผู้ที่ให้การสนับสนุนเกาหลีใต้ประกอบด้วยกองกำลังจากสหประชาชาติซึ่งประกอบด้วยทหารจากออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา โคลัมเบีย เอธิโอเปีย ฝรั่งเศส กรีซ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ ไทย ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา สงครามเกาหลีดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ปี จนในที่สุดได้มีการทำสัญญาสงบศึกกันในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2496 และมีเส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่งระหว่างสองประเทศ โดยมีการกำหนดให้พื้นที่กว้าง 4 กิโลเมตร (ในดินแดนเกาหลีเหนือ 2 กิโลเมตร และในดินแดนเกาหลีใต้ 2 กิโลเมตร) ตามแนวเส้นแบ่งดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดทหาร
แม้จะมีการทำสัญญาสงบศึกกัน แต่รอยร้าวที่เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้สมานกันอย่างแท้จริง โดยมีรายงานว่าหลังพื้นที่ปลอดทหารกว้าง 4 กิโลเมตรนี้ ทั้งสองประเทศต่างเตรียมกองกำลังทหารไว้นับหมื่นนับแสนนายเพื่อเตรียมรับการรุกรานของอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังมีเรื่องระหองระแหงกันมาตลอด อาทิ เรื่องที่เกาหลีใต้พบว่าเกาหลีเหนือพยายามแอบขุดอุโมงค์ใต้ดินหลายแห่งเพื่อลักลอบเข้ามาสืบราชการลับในเกาหลีใต้ เป็นต้น
ในปี พ.ศ.2541 ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ดูเหมือนจะดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อบริษัท ฮุนได เอเชียน คอร์ป ของเกาหลีใต้ บุกเบิกโปรแกรมทัวร์เทือกเขาคัมกังและเมืองแคซองของเกาหลีเหนือ ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนเกาหลีใต้ หลังจากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้กว่า 1.9 ล้านคนเดินทางไปเที่ยวที่นั่น แต่แล้วในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2551 หญิงชาวเกาหลีใต้วัย 53 ปี ก็ถูกยิงเสียชีวิตขณะเดินหลงเข้าไปในเขตหวงห้ามของกองทัพเกาหลีเหนือบนเขาคัมกัง ส่งผลให้ทัวร์ท่องเที่ยวเทือกเขาคัมกังต้องยุติลงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ของบ้านพี่เมืองน้องจะย่ำแย่ลงตามไปด้วย
แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้รอยร้าวระหว่างสองประเทศบาดลึกลงไปยิ่งกว่าเดิมคือ การที่เกาหลีเหนือทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อทั้งเกาหลีใต้และประชาคมโลก โดยเกาหลีเหนือเริ่มทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ.2549 ซึ่งส่งผลให้เกาหลีเหนือขึ้นทำเนียบเป็นประเทศผู้ครอบครองนิวเคลียร์ลำดับที่ 9 ของโลกต่อจากจากสหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน และอิสราเอล และในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2552 เกาหลีเหนือได้ทำการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่มีอานุภาพรุนแรงกว่าเดิมถึง 5 เท่า และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้ทำการทดสอบยิงขีปนาวุธทั้งพิสัยใกล้และไกลอีกหลายครั้ง
ด้านเกาหลีใต้แก้เผ็ดเกาหลีเหนือด้วยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการ Proliferation Security Initiative (PSI) ของสหรัฐที่มีเป้าหมายในการห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งมีอานุภาพการทำลายล้างสูง ส่งผลให้เกาหลีเหนือโกรธจนควันออกหูและฉีกสัญญาสงบศึกเมื่อปี พ.ศ.2496 ทิ้งไปแบบไม่เหลือเยื่อใย
ความสัมพันธ์ระหว่างโสมแดงและโสมขาวยังคงระหองระแหงมาตลอดจนกลายเป็นเรื่องปกติ ขณะที่หลายประเทศพยายามเข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่เคยเป็นผล และในที่สุดบาดแผลที่บาดลึกมานานก็ถูกย้ำลงไปอีกครั้งเมื่อเกาหลีเหนือยิงจรวดตอร์ปิโดใส่เรือรบเชียวนันของเกาหลีใต้จนอัปปางลงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยทางการเกาหลีใต้ได้ใช้อวนจับปลาในการเก็บรวบรวมหลักฐานจากใต้ทะเล และได้พบใบพัดตอร์ปิโดจมอยู่ในโคลนก้นทะเลบริเวณที่เรือเชียวนันอัปปาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าชิ้นส่วนของใบพัดตอร์ปิโดมีซีเรียลนัมเบอร์ของเกาหลีเหนือสลักไว้ นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังนำหลักฐานที่ได้ไปเปรียบเทียบกับใบพัดตอร์ปิโดของเกาหลีเหนือซึ่งกองทัพเกาหลีใต้ได้มาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว และพบว่าตอร์ปิโดทั้งสองผลิตขึ้นจากวัสดุชนิดเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐ ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ซึ่งร่วมการตรวจสอบครั้งนี้ จึงเห็นพ้องต้องกันว่าตอร์ปิโดของเกาหลีเหนือเป็นสาเหตุที่ทำให้เรือรบเกาหลีใต้จม
ถึงกระนั้นเกาหลีเหนือก็ยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาของเกาหลีใต้ พร้อมระบุว่าเกาหลีใต้สร้างเรื่องขึ้นเพื่อทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด ขณะเดียวกันสำนักข่าว KCNA ของทางการเกาหลีเหนือรายงานโดยอ้างแถลงการณ์ของโฆษกคณะกรรมาธิการกลาโหมแห่งชาติของเกาหลีเหนือว่า เกาหลีเหนือจะส่งทีมงานตรวจสอบไปที่เกาหลีใต้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของผลการสืบสวนดังกล่าว นอกจากนั้นยังขู่ว่าเกาหลีเหนือจะดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างแข็งกร้าว ซึ่งรวมถึงการทำสงครามแบบเต็มกำลัง ถ้ามีการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับเกาหลีเหนือ โดย คิม จอง อิล ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ถึงกับสั่งการให้กองทัพเตรียมพร้อมรบแล้ว
อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ไม่ได้ประหวั่นพรั่นพรึงต่อคำขู่ของเกาหลีเหนือ โดยเกาหลีใต้ได้ยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการสนธิสัญญาหยุดยิงทางทหาร กองบัญชาการสหประชาชาติ (United Nations Command Military Armistice Commission: UNCMAC) ซึ่งทาง UNCMAC เตรียมตรวจสอบว่าการที่เกาหลีเหนือยิงตอร์ปิโดใส่เรือรบของเกาหลีใต้นั้น ละเมิดข้อตกลงสงบศึกทางทหาร (Military Armistice Agreement) ตามที่ประธานาธิบดี ลี เมียง บัค ของเกาหลีใต้ระบุหรือไม่ ขณะเดียวกันประธานาธิบดีลียังออกมาประกาศว่าจะระงับการค้ากับเกาหลีเหนือ รวมทั้งปิดน่านน้ำไม่ให้เรือของเกาหลีเหนือใช้งาน นอกจากนั้นเกาหลีใต้จะยื่นเรื่องการจมเรือให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณาหาบทลงโทษเกาหลีเหนือ เพื่อให้นานาประเทศได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการกับเกาหลีเหนือต่อไป ซึ่งประธานาธิบดีลีเผยว่านานาประเทศให้การสนับสนุนจุดยืนของเกาหลีใต้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการจมเรือดังกล่าวถือเป็นการยั่วยุทางการทหาร ซึ่งเกาหลีเหนือต้องรับผิดชอบกับการกระทำที่ยั่วยุเช่นนี้
ขณะเดียวกันทางการสหรัฐกำลังพิจารณาเรื่องการใช้มาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรทางธุรกิจ โดยอาจจะมีการสั่งห้ามสถาบันการเงินที่ถูกสงสัยว่ามีส่วนในการทำธุรกรรมที่คลุมเครือกับธนาคารของสหรัฐ นอกจากนั้นรัฐบาลสหรัฐยังได้พิจารณาเรื่องการระงับบัญชีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ ขณะเดียวกันนายฮิโรฟูมิ ฮิราโน่ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะสนับสนุนเกาหลีใต้อย่างเต็มที่ หากเกาหลีใต้ตัดสินใจที่จะดำเนินการเพื่อเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ
ล่าสุด เกาหลีเหนือได้ออกมาตอบโต้เกาหลีใต้อย่างรุนแรงด้วยการประกาศตัดความสัมพันธ์ทุกด้านกับเกาหลีใต้ โดยสำนักข่าว KCNA ของทางการเกาหลีเหนือได้เผยแพร่แถลงการณ์ที่ออกโดยโฆษกของคณะกรรมการการร่วมชาติเกาหลีอย่างสันติว่า เกาหลีเหนือตัดสินใจที่จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการระงับความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีโดยสิ้นเชิง ยกเลิกสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างสองฝ่ายโดยสิ้นเชิง และระงับความร่วมมือระหว่างสองเกาหลีโดยสิ้นเชิง โดยในขั้นแรกเกาหลีเหนือได้กำหนดมาตรการตอบโต้ไว้ 8 ข้อ ซึ่งรวมถึงการติดต่อสื่อสารทุกช่องทางระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะถูกตัดทิ้ง บุคลากรของเกาหลีใต้ที่นิคมอุตสาหกรรมแคซองจะถูกขับออกจากพื้นที่ในทันที ตลอดจนการห้ามเรือและเครื่องบินของเกาหลีใต้ผ่านน่านน้ำและน่านฟ้าของเกาหลีเหนือ
ในวันนี้ ญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลีใต้ จะจัดการประชุมที่กรุงโซล เพื่อรวบรวมมาตรการในการคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เรือรบของเกาหลีใต้อับปาง ซึ่งในการประชุมระดับไตรภาคีครั้งแรกนี้ คาดว่าที่ประชุมจะหารือเรื่องการประสานงานด้านนโยบายในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติม หลังจากที่มีความเห็นตรงกันว่า เรือรบที่อับปางลงนั้นเป็นผลมาจากการกระทำที่ยั่วยุทางการทหาร
แม้ประชาคมโลกรวมถึงประเทศมหาอำนาจทั้งหลายดูเหมือนจะถือหางเกาหลีใต้มาโดยตลอด แต่เกาหลีเหนือก็ไม่เคยหวั่นเกรงต่อแรงกดดันและมักจะตอบโต้ด้วยความดื้อดึงและท้าทายมาโดยตลอดเช่นกัน และการที่ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นให้การสนับสนุนเกาหลีใต้ในครั้งนี้ อาจกระตุ้นให้เกาหลีเหนือออกมาโต้ตอบด้วยความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
อันที่จริงแล้วจะเห็นได้ว่าการแทรกแซงจากภายนอกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองเกาหลีเกิดความบาดหมางกันตั้งแต่เริ่มต้น และการแทรกแซงจากภายนอกยังเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่ทำให้บาดแผลนี้ยิ่งฝังลึกลงไปอย่างยากจะเยียวยา ที่สำคัญดูเหมือนว่าการแทรกแซงจากภายนอกนี่เองที่จะทำให้ศึกสายเลือดในครั้งนี้ต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนาน และการรวมชาติเกาหลีดังที่หวังไว้คงต้องรอคอยต่อไป