ทนาย พธม.ร้อง กกต.ยุบพรรคเพื่อไทย-เว้นวรรค กก.บห.ฐานเอี่ยวม็อบเสื้อแดง

ข่าวการเมือง Monday May 31, 2010 12:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางเข้าร้องเรียนต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้พิจารณายุบพรรคเพื่อไทยและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค

โดยหนังสือร้องเรียนระบุว่า กรณีประธานที่ปรึกษาพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส.เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง และอาศัยการชุมนุมดังกล่าวล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นการกระทำตามความผิดมาตรา 94 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองและรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 พ.ศ.2550 อีกทั้งการที่คณะกรรมการบริหารพรรคปล่อยปะละเลยฝ่าฝืนต่อหน้าที่ในการดำเนินกิจการของพรรคให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกฎหมาย นโยบายพรรค และข้อบังคับพรรค ที่ต้องรับผิดชอบและต้องควบคุมไม่ให้สมาชิกกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 17 และ 18 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง

นายนิติธร กล่าวว่า การดำเนินกิจการของพรรคเพื่อไทยเข้าไปเกี่ยวข้องและสนับสนุนกลุ่ม นปช.ตั้งแต่ปี 52 ที่มีการปิดล้อมศาลากลางจังหวัด จนถึงการเคลื่อนไหวในปัจจุบันที่มีการสั่งให้ผู้ชุมนุมเผาสถานที่ต่างๆ หลักฐานกรณีนี้ยังไม่ได้นำมายื่นเพราะถือว่าพฤติกรรมทั้งหมดที่ปรากฏต่อสื่อมวลชน กกต.สามารถเรียกหลักฐานต่างๆ ต่อสื่อมวลชนได้ ประกอบกับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ก็มีข้อมูลในส่วนนี้อยู่ด้วยเช่นกัน แต่ถ้า กกต.ต้องการหลักฐานเพิ่มเติมก็พร้อมจะมายื่น

นายนิติธร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยพิจารณาได้ว่าการชุมนุมดังกล่าวกฎหมายรับรองหรือไม่ ทั้งนี้การชุมนุมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย แต่ ส.ส.เพื่อไทยก็ยังเข้าร่วม ทั้งยังชักชวนให้มีการเผาทำลายทรัพย์สินและสั่งการให้เคลื่อนพลไปยังสถานที่ต่างๆ โดยไม่ทักท้วงยับยั้ง

สำหรับกรณี พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเวทีปราศรัยนั้น ตนเองดูข้อกฎหมายอยู่ การยื่นวันนี้ถือเป็นขั้นตอนแรกเท่านั้น ส่วนการยื่นถอดถอน ส.ส.รายบุคคลนั้นก็มีผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งตนเองจะเน้นไปที่จรรยาบรรณของนักการเมือง รวมทั้งจะดูว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรจะมีการทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างแข็งขันหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ