กกต.ยกคำร้องนายกฯ เชิญบ้านเลขที่ 11 ถกปัญหาการเมือง ชี้ทำได้ไม่ขัดรธน.

ข่าวการเมือง Thursday June 3, 2010 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกต.มีมติเสียงข้างมากให้ยกคำร้องกรณีที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานคณะกรรมการตรวจสอบอำนาจรัฐของสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย(ส.ป.ท.) ได้ยื่นหนังสือขอให้ กกต.ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กระทำการเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากได้เชิญแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี เข้าไปร่วมหารือสถานการณ์ทางการเมืองและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บ้านพิษณุโลก เมื่อเดือน ต.ค.52

ทั้งนี้ กกต.ให้เหตุผลว่า แกนนำพรรคการเมืองที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งแล้วมาร่วมประชุมกับนายกฯ และนายสุเทพนั้น เป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองตามวิถีสังคมประชาธิปไตยที่ต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่าย อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้าม

ส่วนการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการพูดและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

นายสุทธิพล กล่าวอีกว่า กกต.ยังมีมติเสียงข้างมากให้ยกคำร้องกรณี พล.ร.อ.บรรณวิทย์ และพวกร้องขอให้กกต.ตรวจสอบกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 94 พ.ร.บ.พรรคการเมือง เนื่องจากมีลักษณะเข้าครอบงำพรรคเพื่อไทยเสมือนหนึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งจากการตรวจสอบ กกต.เห็นว่าจากพยานหลักฐานยังไม่ปรากฏว่ามีการกระทำในลักษณะให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาครอบงำ หรือบงการพรรคเสมือนหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นหัวหน้าพรรค ดังนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทยกระทำการเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย

นอกจากนี้ กกต.ยังยกคำร้องกรณีที่นายเรืองเดช เหลืองบริบูรณ์ ขอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองสอบสวนวินิจฉัยชี้ขาด กรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทำผิดพ.ร.บ.พรรคการเมือง เนื่องจากมีเจตนาดำเนินกิจกรรมเช่นเดียวกับพรรคการเมืองหรือทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นพรรคการเมืองโดยยังไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง

โดยกรณีนี้ กกต.เห็นว่าการดำเนินการของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อครั้งจัดชุมนุมถือเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อตรวจสอบปัญหาคอรัปชั่นของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้ชื่อ, ชื่อย่อ, ภาพ, เครื่องหมาย หรือถ้อยคำใดที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นพรรคการเมือง แม้ต่อมากลุ่มพันธมิตรฯ จะได้ดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่(ก.ม.ม.)ขึ้นก็ตาม เพราะการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นหลังการชุมนุมเคลื่อนไหว จึงเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมือง

นายสุทธิพล กล่าวด้วยว่า กกต.ยังได้มีมติให้ขยายเวลาการสืบสวนสอบสวนกรณีนายสงวน พรหมมณี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร้องให้ตรวจสอบและขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากคู่สมรสและบุตรเข้าไปถือครองหุ้นใน บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น(STEC) ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานของรัฐออกไปอีก 30 วัน เนื่องพยานของนายชวรัตน์ อ้างว่าหลักฐานที่เป็นเอกสารที่ต้องนำมาแสดงถูกเก็บอยู่ในตู้นิรภัยของสำนักงานที่ตั้งอยู่ภายในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ถูกไฟไหม้ ดังนั้นต้องขอเวลาให้พยานเข้าไปตรวจเอกสารต่างๆ ก่อนว่ายังอยู่หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ