รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้คาดว่าจะมีการหารือเพื่อขอความเห็นชอบยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่บางจังหวัดจากทั้งหมด 24 จังหวัดตามความเห็นของกระทรวงมหาดไทยที่มองว่าสถานการณ์สงบเรียบร้อยดีแล้ว ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วระบุว่ามี จ.นครปฐม จ.ชลบุรี และ จ.ปทุมธานี
นอกจากนั้น จะมีการพิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) โดยคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ชุดนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างวงเงิน 7,500 บาทโดยให้ ครม.พิจารณาจะจ่ายชดเชย 1 หรือ 2 เดือน
และยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ถือกรมธรรม์ประภันภัยที่ไม่ได้ครอบคลุมการก่อการร้าย โดยจะเสนอให้ออกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการอนุญาตให้บริษัทประกันภัยที่ต้องจ่ายค่าสินไหมประกันให้แก่ผู้ประกอบการที่ถูกไฟไหม้จากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองและซื้อกรมธรรม์จากบริษัทประกันวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทได้รับการช่วยเหลือสินไหมทดแทน โดยให้บริษัทประกันภัยสามารถนำเงินค่าสินไหมที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการที่ซื้อกรมธรรม์มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้100%
พร้อมกันนั้น จะมีการรับทราบมติของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจที่อนุมัติมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวและการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ได้แก่ มาตรการเสริมสภาพคล่องของ SMEs ท่องเที่ยวในย่านราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียง วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ให้กู้รายละ 1 ล้านบาทไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขยายเวลาปลอดดอกเบี้ยเป็น 2 ปี จาก 1 ปี และขยายเวลาชำระหนี้เป็น 8 ปี จาก 5 ปี ส่วนผู้ที่กู้เงินเกิน 5 ล้านบาทต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยคงเที่ MLR ลบ 3% ต่อปี ตลอดอายุโครงการ
ส่วนวาระอื่นๆ ได้แก่ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีเสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข การให้ความช่วยเหลือการส่งเสริมหรือสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือองค์กรมหาชนจากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, การตั้งคณะกรรมการเฉพาะเพื่อดูแลผิดชอบสินค้ากุ้งทั้งระบบ
กระทรวงแรงงานเสนอ ขอความเห็นชอบการทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการรับรองขอรับประโยชน์ทดแทนเงินบำนาญแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี, กระทรวงพาณิชย์เสนอ การดำเนินการเพื่อรองรับการเปิดตลาด AFTA และสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระตามมาตรา67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550