วงการตลาดทุน แนะรัฐกระจายรายได้-ปฎิรูปการศึกษา ขจัดสงครามชนชั้น

ข่าวการเมือง Thursday June 10, 2010 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บล.ภัทร ((PHATRA) กล่าวในงานเสวนาพิเศษ"จุดเปลี่ยนประเทศไทยยุทธศาสตร์การปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมเพื่อก้าวข้าววิกฤตการเมืองไทย" ว่า สาเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจพบว่าการพัฒนา 10 ปีที่ผ่านมามีประเด็นที่น่าสนใจ คือ แรงงานภาคเกษตรลดลง แต่แรงงานทักษะต่ำเพิ่มขึ้นมากสุด เปลี่ยนจากคนจนในชนบทมาเป็นคนจนเมือง

ทั้งนี้ ส่วนแบ่งผลตอบแทนของคนกลุ่มนี้ลดลงเรื่อยๆ จากเดิมมีส่วนแบ่งผลตอบแทน 17% ของค่าจ้าง เหลือ 14% ของค่าจ้าง ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัว(แท้จริง)ของประชากรปรับขึ้น 46-47% แต่ค่าแรงขั้นต่ำที่คิดเป็น 80% ของประเทศติดลบ 1.6% เป็นข้อพิสูจน์ว่าผลการพัฒนาเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ในคนระดับบน

ลักษณะดังกล่าวคือจุดเริ่มต้นของสงครามชนชั้น ดังนั้น แนวทางการปฏิรูปในอนาคต ต้องกระจายรายได้ถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งการออกจากระบบทุนนิยมไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ต้องทำให้เกิดฉันทามติให้เป็นที่ยอมรับ และต้องรักษาระบบไม่ให้แตกแยก รวมถึงสมาคมต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ เช่น สมาคมธนาคารไทย หอการค้าไทย

"เรื่องรายได้ขั้นต่ำ ทำอย่างไรให้การพัฒนามันมีประโยชน์กระจายสิ่งที่รัฐทำได้ คือ งบประมาณ ภาษีคนรวย ภาษีที่ดิน รัฐสวัสดิการ ธรรมาภิบาล สุดท้าย สิ่งที่จะ bottom line อยู่ที่ประเทศนี้จะยกศักยภาพทางการเมืองของตัวเองได้หรือไม่ เพื่อแรงงานจะได้อยู่ได้ด้วยตัวเอง"นายบรรยง กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายบรรยง ตั้งข้อสังเกตใน 3 ประเด็นที่มักจะลืมเกี่ยวกับการปฎิรูปเศรษฐกิจและสังคม คือ การพัฒนาตลาดการเงิน ตลาดทุน, เลิกปกป้องอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ และ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐวิสาหกิจของไทยมีโครงสร้างเป็นอุปสรรคมากต่อการพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน และสิ้นเปลืองทรัพยากรเศรษฐกิจมาก

ด้านนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย นำเสนอ 4 ประเด็นเพื่อการปฎิรูปเศรษฐกิจสังคม คือ การปฎิรูปการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน การกระจายรายได้ และรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้ประชากรของประเทศได้รายได้น้อยเกินไป ขณะที่รัฐบาลมุ่งปรับปรุงรายได้ภาคเกษตรกร ด้วยการสนับสนุนนโยบายในการอุดหนุนภาคเกษตร เพราะเป็นแหล่งอาหารของโลก แต่รัฐบาลควรต้องสนใจภาคอื่นด้วย

"ไม่ต้องกลัวขายไม่ได้เพราะคนเราต้องมีการปรับตัว อยากให้มองครู ครูเราเงินเดือนต่ำมาก รายได้ไม่พอ หนี้สินล้นพ้นตัว ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน รายได้ต่ำมาก ไม่เพียงพอต่อการครองชีพแน่นอน ภาษี ถ้ามีเงินไม่เพียงพอ เก็บภาษีเพิ่มก็ได้ อยากให้เก็บเพิ่มภาษี capital gain tax ถ้าเงินนั้นเอาไปทำประโยชน์ให้ประเทศชาติจริงๆ ก็ยินดีเสีย"นางวิวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ เห็นว่าการสร้างโอกาสที่เท่าเทียม รัฐบาลไม่จำเป็นต้องดำเนินการเองทุกเรื่อง แต่ควรสนับสนุนกระตุ้นให้คนมีจิตใจดีและช่วยเหลือสังคม เช่น ลดภาษีให้กับผู้บริจาคช่วยเหลือสังคม เท่ากับรัฐลงทุน 37% ที่เหลือ 36% คนอื่นลงทุน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวว่า การกระจายรายได้เป็นปัญหาที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อการกระจายความเจริญให้ออกนอกกรุงเทพและเขตอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายภาษีเพื่อจูงใจสำหรับบริษัทต่างชาติเพื่อตั้งสำนักงานใหญ่ในต่างจังหวัด ซึ่งเห็นว่าควรให้ข้อเสนอนี้กับภาคเอกชนไทยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างประเทศมีความสำคัญ หลังจากวิกฤติการเมืองที่มีผลมากมายกับการลงทุนของต่างประเทศ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลงต่อเนื่องในช่วง 4 ปีย้อนหลัง และการลงทุนของนักลงทุนในประเทศเองก็ลดลงด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น จำเป็นที่ไทยต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการลงทุนในช่วงนี้ที่รัฐฐาลยังมีภาระหนี้ที่ยังควบคุมได้ และเพื่อให้เอกชนกล้าลงทุนเพิ่มเติม

"อยากมองภาพการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วย .... ตอนนี้การลงทุนไม่เกิด ทำให้ภาคส่งออกเราสูงมาก และประเทศไทยก็ผันผวนตามการส่งออก ถ้าเราดึงการลงทุนให้เพิ่มขึ้นการส่งออกก็จะลดลงโดยปริยาย ทำไมไม่ให้อินเซนทีพกับธุรกิจดาวเด่นของประเทศ เช่น อาหาร เกษตรแปรรูป" นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับการลงทุนในตลาดทุน เห็นว่ารัฐควรตั้งหน่วยงาน Investor Relations มาดูแลโดยตรง เนื่องจากขณะนี้ตลาดทุนไทยมีขนาดเกิน 100% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(GDP) จึงควรมีหน่วยงานเฉพาะมาดูแลนักลงทุน เพื่อสร้างความมั่นใจในการนำเสนอข้อมูล และเพื่อความโปร่งใส จากปัจจุบันที่นักลงทุนต้องคอยหาข้อมูลจากกระทรวงต่างๆ หน่วยงานนี้ควรทำหน้าที่ให้ pro-active ให้เหมือนบริษัทเอกชนทั่วไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ