นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศจะเดินหน้าจัดทำแผนปฏิรูปประเทศให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนสิ้นปีนี้ เพราะมีความตั้งใจที่จะมอบแผนปฏิรูปประเทศเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน และจะกำหนดวันจัดการเลือกตั้งใหม่ที่เหมาะสมหากแผนปฏิรูปประเทศดำเนินการไปได้ด้วยดี
"ตั้งเป้าแผนทั้งหมดจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปี โดยถือว่าจะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนทุกคน เพื่อที่จะให้ประชาชนได้ทราบแผนครบถ้วนในช่วงปีใหม่นี้"นายอภิสิทธิ์ กล่าวเปิดการประชุมร่วมกับทุกภาคส่วน ก่อนอ่านจดหมายถึงประชาชนในช่วงเย็นวันนี้ เพื่อประกาศความตั้งใจในการเดินหน้าแก้ไขปัญหารวมถึงสิ่งที่ต้องการจะทำหลังจากนี้ว่ารัฐบาลมีแนวทางอย่างไร
การเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศไทยนั้น ในส่วนของแผนปรองดอง 5 ข้อที่เคยได้นำเสนอไว้ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าต้องการให้ทั้ง 5 ข้อเดินหน้าต่อไปได้ และหากเห็นว่าการดำเนินการตามแผนมีความสมบูรณ์ รัฐบาลก็จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อประกาศวันเลือกตั้งใหม่ โดยหวังว่าจะเป็นส่วนช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้งในสังคมได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยประกาศจะจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พ.ย.แต่ในเมื่อปัญหาความขัดแย้งคงอยู่จึงจำเป็นต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีก่อนที่จะมีการเลือกตั้งต่อไป
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะให้ 4 ภาคส่วน คือ ภาควิชาการ, ภาคเอกชน, ส่วนท้องถิ่น และสื่อสารมวลชน ร่วมระดมความคิดเห็น ซึ่งอาจเป็นลักษณการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นตามแผนปรองดอง 5 ข้อ ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์ โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะถือโอกาสเข้าไปร่วมรับฟังความคิดเห็นด้วยตัวเอง ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นในเบื้องต้น และพร้อมจะอำนวยความสะดวกให้แก่สิ่งที่ทั้ง 4 ภาคส่วนต้องการได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการด้านต่างๆ เพื่อรองรับต่อการเดินหน้าแผนปฏิรูปประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ได้นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ร่วมกับนักวิชาการอีก 19 คนมาเป็นคณะกรรมการ สำหรับการปฏิรูปสื่อมวลชนได้ทาบทาม นางยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้แล้ว
ส่วนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น ในวันที่ 17 มิ.ย. รัฐบาลเตรียมจัดงานสมัชชาเพื่อให้ได้ข้อยุติในการเป็นกลไกขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งสมัชชาดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วน คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.), ฝ่ายเลขานุการ สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ทำงานสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเรื่องนี้
นอกจากนี้ รัฐบาลยังพร้อมจะจัดสรรและวางกรอบงบประมาณให้มีความชัดเจน เพื่อเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศต่อไป