ฟิลิป โครว์ลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ กล่าวว่า วิกฤตน้ำมันไหลทะลักลงสู่อ่าวเม็กซิโกอันเนื่องมาจากแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทบีพีระเบิดนั้น เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลสหรัฐและบริษัทเอกชน และจะไม่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอังกฤษ
"บีพีเป็นบริษัทเอกชน(ของอังกฤษ) และนี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลพวงของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของเรา" โครว์ลีย์กล่าวกับผู้สื่อข่าว "ชาวอังกฤษเข้าใจถึงความไม่พอใจและความโกรธเคืองที่ชาวอเมริกันกำลังเป็นอยู่เมื่อเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเรา"
ด้านนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ก็ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ไม่นานว่า เขาจะหารือกับประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐ เกี่ยวกับวิธีการที่บีพีจัดการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อผู้นำทั้งสองสนทนากันทางโทรศัพท์ในช่วงสุดสัปดาห์นี้
"นี่เป็นหายนะทางสิ่งแวดล้อม บีพีต้องทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อจัดการกับสถานการณ์นี้ และรัฐบาลอังกฤษก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ" คาเมรอนกล่าวในระหว่างเดินทางเยือนอัฟกานิสถานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า วานนี้
โดยนอกเหนือจากการสนทนาทางโทรศัพท์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เผยด้วยว่า ประธานาธิบดีโอบามาและนายกรัฐมนตรีคาเมรอนน่าจะมีโอกาสได้พบและพูดคุยกันในเร็วๆนี้ เนื่องจากการประชุม จี20 กำลังจะมีขึ้น ซึ่งเขาเชื่อแน่ว่าผู้นำทั้งสองจะนำเรื่องนี้มาหารือกันนอกรอบการประชุมดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26 - 27 มิ.ย.ที่โตรอนโต ประเทศแคนาดา
ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐกล่าวว่า มีน้ำมันไหลทะลักสู่อ่าวเม็กซิโกมากถึงวันละ 40,000 บาร์เรล ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ถึงสองเท่า
โดยนักวิจัยจากหน่วยงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐ กล่าวว่า น้ำมันไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโกประมาณ 20,000 - 40,000 บาร์เรล/วัน ในช่วงก่อนวันที่ 3 มิ.ย. ซึ่งหลังจากนั้น ปริมาณเริ่มลดลงเพราะบีพีเริ่มควบคุมการรั่วของน้ำมันได้
ทั้งนี้ น้ำมันรั่วไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโกนับตั้งแต่ที่แท่นขุดเจาะ Deepwater Horizon ของบีพีระเบิดเมื่อวันที่ 20 เม.ย. และจมลงนอกชายฝั่งของรัฐหลุยเซียนา ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิต 11 ราย