นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)กล่าวยอมรับว่า ศอฉ.อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการออกกฎหมายพิเศษเพื่อนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ซึ่งในที่ประชุม ศอฉ.มีการเสนอแนวคิดดังกล่าวเพื่อให้สอดรับกับนโยบายปรองดองของนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ในส่วนของ ศอฉ.ที่มีแนวทางดังกล่าวเป็นมาตรการส่วนหนึ่งที่จะทำให้นโยบายของนายกรัฐมนตรีบรรลุผล จึงมีการเสนอว่าผู้ที่มาร่วมชุมนุมด้วยความบริสุทธิใจ ไม่ได้มุ่งหวังให้เป็นเกิดความรุนแรง เพียงแต่เป็นการเข้ามามาชุมนุมในเวลาดังกล่าวเลยติดร่างแหไปด้วย จุดนี้ไม่น่าจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.
ดังนั้น จึงมอบหมายให้คณะทำงานไปยกร่างมา และจะกลับมาดูว่าการออกกฎหมายพิเศษดังกล่าวมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เนื่องจากมีผู้เห็นแย้งว่าหากเกิดเหตุแล้วมีการนิรโทษกรรม คนจะไม่กลัว และจะส่งผลให้การบังคับใช้กฏหมายมีปัญหาในอนาคต
"เป็นเพียงแค่ความคิดที่หลากหลาย ต้องมาสังเคราะห์ ยังไม่ใช่ข้อยุติ" นายสุเทพ กล่าว
อนึ่ง มีรายงานข่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฎีกา นัดหารือความเป็นไปได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมบ่ายนี้
นายสุเทพ กล่าวถึงกรณีที่มีโพลสำรวจออกมาว่า แนวทางการสร้างความปรองดองจะไม่ประสบความสำเร็จ นายสุเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นคงเป็นความโชคร้ายของบ้านเมือง แต่แนวทางคงต้องรอดูการปฎิบัติไปก่อน ว่าปฎิบัติไปแล้วจะเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งไปคาดหวังอะไรกันล่วงหน้าก่อน แล้วไม่ทำอะไรเลย
แนวทางที่ ศอฉ.กำลังคิด พยายามดูว่าจะมีหนทางใดทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย หากส่วนใหญ่เห็นด้วยก็จะทำ แต่หากมีการคัดค้านก็จะไม่ทำ อย่างกฎหมายพิเศษ หากมีการคัดค้านอาจจะไม่ออกมาก็ได้
ส่วนกรณีที่องค์กรนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้มีการยกเลิกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น การพิจารณายกเลิกหรือไม่ จะต้องคำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นต่อประเทศเป็นสำคัญ แต่เข้าใจการทำงานขององค์กรเหล่านี้ว่ามีวัตถุประสงค์เผื่ออะไร
"ในฐานะที่ผมรับผิดชอบก็เข้าใจบทบาทขององค์กรเหล่านี้ แต่เราคิดถึงความอยู่รอดของประชาชนและประเทศชาติ เวลาเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาองค์กรเหล่านี้ไม่ได้มาร่วมรับความเจ็บปวดกับเราด้วย"นายสุเทพ กล่าว