นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวก่อนเข้าประชุมร่วม 3 หน่วยงานว่า แนวทางในการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงนั้น จะพิจารณาให้เฉพาะกรณีผู้มาชุมนุม ซึ่งถือว่าฝ่าฝืนพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น
ทั้งนี้จะไม่รวมถึงกรณีผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกข้อหาทำร้ายร่างกาย, วางเพลิง, ปล้นสดมภ์ และการก่อการร้ายนั้น จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม ตามที่สังคมอาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า สำหรับช่วงเวลาการกระทำผิดที่จะให้การนิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) และรัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าการนิรโทษกรรมจะนับตั้งแต่ได้เริ่มกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.53 ซึ่งเป็นวันแรกของการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดงเลยหรือไม่
นอกจากนี้ ดีเอสไอเองคงไม่ก้าวล่วงที่จะไปเสนอว่ารัฐบาลควรจะออกเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า การออกเป็น พ.ร.ก.จะทำได้รวดเร็วและคล่องตัวกว่าการออกเป็น พ.ร.บ.ที่ต้องรอผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร
นายธาริต คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 1-2 วันในการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้แล้วเสร็จเพื่อส่งให้ ศอฉ.ไปพิจารณา ซึ่งหาก ศอฉ.เห็นชอบก็จะได้ส่งเรื่องให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
อนึ่ง วันนี้ 3 หน่วยงานประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ), สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นัดประชุมกันเพื่อพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ถึงการจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น