นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความมั่นใจว่าแผนหลักในกระบวนการปรองดองที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนำเสนอนั้นจะเป็นทางออกสำคัญให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดหลักยุทธศาสตร์ของการมีส่วนร่วมของประชาชน และสังคมเป็นเจ้าของนั้นจะเป็นแนวทางสำคัญที่รัฐบาลจะทำหน้าที่เพียงในการให้เงินสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนกระบวนภายใต้แผนปรองดอง
สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฎในขณะนี้ คือในส่วนคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด คือคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และ คณะกรรมการศึกษากติกาทางการเมือง และกลไกกระบวนการของ 2 ภาคี กล่าวคือ ภาคีปฏิรรูปประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และ ภาคีของการปฏิรูปสื่อ โดยองค์กรทางวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้ง 2 คณะกรรมการ และ ทั้ง 2 ภาคี อยู่บนพื้นฐานของการทำงานที่เป็นอิสระ และมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะเป็นพลังสำคัญในการนำพาบ้านเมืองพ้นวิกฤติ
นอกจากนี้ กระบวนการนี้ได้มีการชี้แจงให้สื่อต่างประเทศ รวมทั้งการพบปะผู้นำต่างประเทศในหลายครั้ง ก็ได้รับการสนับสนุนกระบวนการปรองดองนี้ ซึ่งพรรคมองว่าการได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ในการสร้างความสมานฉันท์ ให้กับประเทศถือว่ามีความสำคัญ เพราะรูปแบบหลายส่วนได้มีการศึกษาผ่านหลายกรณีที่เคยมีความขัดแย้งทางการเมือง และมีการสร้างกระบวนการปรองดองโดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ได้มีการศึกษาในส่วนของกรณีแอฟิกาใต้ ที่ได้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความสมานฉันท์ หละงจากประเทศมีความขัดแย้งทางการเมือง
แต่การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านเครือข่ายต่างประเทศนั้น มีผลที่จะสร้างความเข้าใจผิดและลดความน่าเชื่อถือของกระบวนการปรองดอง และของประเทศไทย ขณะที่พรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่า การแก้ไขปัญหาของประเทศของ นายกฯ เป็นเพียงแต่การขายฝันไปวันๆ เห็นได้ชัดว่าขณะนี้พรรคเพื่อไทย ก็มีส่วนสำคัญในการที่จะเป็นอุปสรรค และดูเหมือนว่ามีวัตถุประสงค์ไม่ต้องการให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้น
"เชื่อว่าแนวทางในการเปิดกว้างที่คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด และทั้ง 2 ภาคี มีแนวทางให้องค์กรระหว่างประเทศสามารถเข้าศึกษาตรวจสอบ ในลักษณะคู่ขนาน แต่ไม่แทรกแซง ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และทำให้การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และกระบวนต่างนั้นไม่สัมฤทธิ์ผลได้"
ส่วนกรณีที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาระบุว่าการปฏิเสธกระบวนการสันติภาพ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเจรจากับคู่กรณีได้นั้น ขอชี้แจงว่า นายกฯเป็นผู้เปิดช่องทางการเจรจาตั้งแต่เริ่มเกิดวิฤติการทางการเมือง และลงไปเจราจาด้วยตัวเองมาโดยตลอด แต่นปช. กลับปฏิเสธกระบวนการเจรจามาโดยตลอดจนเป็นเหตุให้วิกฤติการทางการเมืองนำไปสู่ความรุนแรง ส่วนข้อเสนอของนายนพดลที่บอกว่าไม่ส่วนเกี่ยวข้องกับการดึงต่างประเทศเข้ามา ขณะที่โฆษกพรรคเพื่อไทยบอกว่าองค์กรเดียวที่จะเข้ามาสร้างความปรองดองได้นั้น คือองค์กรระหว่างประเทศ จึงเห็นได้ชัดเจนว่ามีความขัดแย้งในตัวเอง
สำหรับกรณีที่มีการตั้งคำถามในเรื่องความผิดและการนิรโทษกรรมนั้น พรรคประชาธิปัตย์ขอสนับสนุนนายกฯ ในการแยกผู้ก่อการร้าย และผู้ใช้กำลังสร้างความเสียหาย ออกจากผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่มีความแตกต่างทางความคิดกับรัฐบาล โดยสาระสำคัญคือผู้ลงมือกระทำกับประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ โดยต้องมีกระบวนการให้ความเป็นธรรมกับผู้สูญเสีย ผู้บาดเจ็บด้วย บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับความเป็นธรรมด้วย
ในส่วนของข้อเสนอของพรรคการเมืองใหม่ 4 ข้อ ที่ได้ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นแผนของนายกฯในการซื้อเวลาโดยใช้กระบวนการปรองดองเป็นเงื่อนไขนั้น โฆษก ปชป. กล่าวว่า เงื่อนไขหนี่งที่นายกฯพยายามหาทางออกให้กับบ้านเมือง รวมถึงการลดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งในฐานะนายกฯด้วย