นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจใหม่ถึงค่านิยมที่ผิดในปัจจุบันที่ให้การยอมรับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งมีแนวทางที่จะปรับหลักสูตรการเรียนการสอน 30% เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนเพื่อปลูกฝังคุณธรรมในการอยู่ร่วมกัน แทนที่จะแข่งขันกันเรียนแต่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวคิดจะยกเลิกเรื่องสินบนนำจับ เนื่องจากเป็นกลไกที่จะกลายเป็นเครื่องมือให้เกิดการกระทำผิด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ ส่วนราชการจะต้องปฏิรูปการทำงานเพื่อลดปัญหาทุจริต โดยเห็นว่าหากน้อมนำหลักปรัชญาความพอเพียงมาใช้ก็จะเป็นแนวทางที่จะทำให้หลุดพ้นจากสภาพปัญหานี้ได้
"หากคิดว่าการแก้ปัญหาทุจริตจะต้องใช้เวลาแล้วไม่ทำ จะยิ่งทำให้สภาพสังคมเกิดความเสื่อมลงมาก" นายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ "บทบาทผู้นำในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กลไกการแก้ปัญหาและมุมมองในระดับสากล"
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ปัญหาทุจริตจากประสบการณ์ที่พบในเวทีโลกนั้นเห็นว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับไว้เป็นลำดับต้นๆ ซึ่งเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญที่บั่นทอนการพัฒนาประเทศ แม้ว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นเรื่องยากเพราะฝังรากมานาน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
ทั้งนี้การทุจริตคอรัปชั่นสามารถพบเห็นได้ตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ก็สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้บ้าง เช่น การใช้กล้องวงจรปิด(CCTV) ตรวจจับผู้ขับรถที่ฝ่าฝืนกฎจราจร แต่ในทางตรงข้ามบางเรื่องก็อาจเป็นอุปสรรคได้ เช่น การประมูลแบบ e-Auction ซึ่งพบว่าหน่วยงานที่เปิดประมูลก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้วิธีการนี้ด้วยการหั่นมูลค่าโครงการให้ลดลงเหลือไม่เกิน 2 ล้านบาท เพื่อเลี่ยงเข้าเกณฑ์การประมูลในระบบนี้ โดยหน่วยงานที่พบว่ามีการทุจริตอันดับต้น คือ กรมศุลกากร
ส่วนในทางการเมืองนั้น จากการสอบถามนักการเมืองรุ่นเก่า ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่าการเมืองในปัจจุบันแย่ลงกว่าอดีต เพราะความหวังที่จะเห็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ดีเข้ามาน้อยลง เนื่องจากส่วนใหญ่มองการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์