นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของอดีตคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เผยผลประชุมนัดแรกมีมติตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด โดยยืนยันความเป็นอิสระและเป็นกลางในการทำหน้าที่ พร้อมเรียกร้องให้สังคมอย่ายัดเยียดให้เลือกข้างเพราะจะสร้างความแตกแยกให้สังคมมากขึ้น
"นายกฯยืนยันว่ารัฐบาลจะให้อิสระในการทำงานกับคณะกรรมการเต็มที่โดยจะไม่เข้ามาแทรกแซงการทำงาน...ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาว่าจะต้องดำเนินการให้เสร็จเมื่อใด แต่ระบุว่าเรื่องไหนที่ทำเสร็จก่อนก็ให้เสนอมาก่อน ซึ่งทางคณะกรรมการฯทราบว่าบางเรื่องรัฐบาลต้องการให้มีข้อสรุปเสนอรัฐบาลอย่างน้อยภายในเดือนตุลาคม" นายสมบัติ กล่าว
นายสมบัติ กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ที่คณะกรรมการฯ จะดำเนินการตามที่รัฐบาลมอบคือการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ใน 6 ประเด็นก่อน แต่ถ้ามีอะไรที่ประเด็นประโยชน์และมีความสำคัญต่อประเทศ นอกจาก 6 ประเด็นก็ให้คณะกรรมการฯ เสนอความเห็นเพิ่มเติมขึ้นมาได้
"การทำงานของคณะกรรมการฯ เป็นการต่อยอดข้อเสนอของ ส.ส.และ ส.ว.เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นจะไม่ฟังนักการเมืองก็คงไม่ได้ นักการเมืองสามารถให้ความเห็นเราเพิ่มเติมได้" นายสมบัติ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำหน้าที่รองประธานฯ และนายวุฒิสาร ตันไชย เป็นเลขานุการฯ และเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานแนท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 คน ได้แก่ นายศักดา ธนิตกุล เป็นประธาน และนายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นเลขานุการ นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์, นายสมคิด เลิศไพฑูรย์, นายวุฒิสาร ตันไชย, นายสิริวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ เป็นกรรมการ ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น ซึ่งจะเป็นการทำงานในระยะสั้น เป็นเรื่องเฉพาะหน้า
2.คณะอนุกรรมการวิเคราะห์กรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองไทย จำนวน 7 คน ได้แก่ นายแสวง บุญเฉลิมวิภาส เป็นประธาน และนายเธียรชัย ณ นคร เป็นเลขานุการ นายศุภชัย ยาวะประภาษ, นายจรัส สุวรรณมาลา, นายนันทวัฒน์ บรมานันท์, นายบรรเจิด สิงคะเนติ, นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะพูดถึงเนื้อหาสาระของสถาบันทางการเมือง การสร้างความเข้มแข็งทางการเมือง และการปรับปรุงโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมที่จะทำให้สังคมไทยมีความสงบสันติ ซึ่งถือว่าเป็นอนุกรรมการฯ ที่จะพิจารณาในเรื่องระยะยาวเพราะถือว่าเรื่องที่จะดำเนินการนั้นเป็นเรื่องใหญ่
และ 3.คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมกับประชาชนในการสร้างความเข้มแข็งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน ได้แก่ นายไชยา ยิ้มวิไล เป็นประธาน และนายทวี สุรฤทธิ์กุล เป็นเลขานุการ นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, นายประสาท สืบค้า, นายสุนทร มณีวัฒน์ เป็นกรรมการ ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และสื่อสารความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย
โดยที่ประชุมฯ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯทั้ง 3 ชุด ไปจัดทำตารางการทำงานตามที่ได้รับมอบหมายก่อนที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่รับทราบในที่ประชุมวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
นายสมบัติ ยังยืนยันถึงความเป็นกลางในการทำหน้าที่ โดยระบุว่า หากตั้งธงว่าจะต้องเอาสี ก็จะมีคำถามตามมาว่าสีต้องเท่ากัน เอาคนละสีมานั่งด้วยกันก็จะหาข้อสรุปไม่ได้อีก จึงบอกว่าไม่ได้คิดเรื่องสี ใครมีความเห็นที่คิดว่าเป็นประโยชน์ก็เสนอเข้ามาได้