กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) และกรมสรรพากร ตั้งคณะทำงาน 8 ชุด ดำเนินการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินที่มีส่วนสนับสนุนการก่อการร้าย
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาการเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า หลังจาก 4 หน่วยงานได้ประชุมหารือร่วมกันแล้วมีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรมดังกล่าวจำนวน 8 ชุด โดยคณะทำงาน 5 ชุดแรกจะตรวจสอบการทำธุรกรรมของกลุ่มผู้ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, กลุ่มแกนนำผู้ประท้วงและผู้ต้องสงสัย, กลุ่มนักการเมือง, กลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มข้าราชการทหาร ตำรวจ ส่วนอีก 3 ชุดจะตรวจสอบการทำธุรกรรมขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท
"การวิเคราะห์ข้อมูลการเงินของ ปปง.ไม่ได้มองว่าจะมีเงินในบัญชีมากหรือน้อยเกินไป แต่มองว่าเป็นธุรกรรมการเงินที่ผิดปกติหรือไม่ หลังการเข้าชี้แจงเป็นรายบุคคลอาจไม่พบความผิดปกติก็เป็นได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่ต้องเข้าชี้แจงว่าเบิกถอนเงินไปทำอะไร กดเอทีเอ็มกี่ครั้ง ใครเป็นผู้ไปกด และแม้การวิเคราะห์ธุรกรรมการเงินจะพบความเชื่อโยงระหว่างกลุ่มบุคคล แต่ยังต้องรอหลักฐานอื่นประกอบ จึงจะรู้ว่าความสัมพันธ์ทางการเงินเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอาญาหรือไม่" พ.ต.อ.สีหนาท กล่าว
ขณะที่ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า คณะพนักงานสอบสวนจะรอให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ประกาศรายชื่อเพื่อนัดหมายให้บุคคลและนิติบุคคลทั้ง 86 รายชื่อเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้ถ้อยคำชี้แจงการเบิกจ่าย และถอนเงิน ซึ่งเป็นวงเงินธุรกรรมต้องสงสัย โดยประเด็นที่ต้องตรวจสอบจะยึดโยงกับคดีพิเศษ เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าได้เข้าไปช่วยเหลือคดีก่อการร้ายหรือก่อความไม่สงบหรือไม่
"ขอยืนยันว่าพนักงานสอบสวนจะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามพยานหลักฐาน ไม่ได้กลั่นแกล้งผู้ใดทางการเมือง เบื้องต้นให้คำแนะนำว่าขอให้ชี้แจงที่มาและที่ไปของเงินและนำเอกสารมายืนยันให้ครบถ้วน หากชี้แจงไม่สมเหตุสมผลก็จะมีขั้นตอนทางการสอบสวนดำเนินการต่อไป ส่วนกรมสรรพากรจะเข้ามาวิเคราะห์ที่มาของรายได้เพื่อตรวจสอบว่าเสียภาษีครบถ้วนหรือไม่" พ.ต.อ.ณรัชต์