ผลสำรวจจากโครงการวิจัยทัศนคติทั่วโลกของศูนย์วิจัย Pew เปิดเผยว่า คะแนนนิยมทั่วโลกของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลดลงปานกลางในปีนี้ แต่ก็ยังดีกว่าของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช
การสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมประชากร 24,790 คนใน 22 ประเทศทั่วโลก ซึ่งพบว่ามีเพียงรัสเซียและเคนย่าซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของบิดาโอบามา ที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นในตัวโอบามามากขึ้นในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ในสหรัฐอเมริกามีผู้ตอบแบบสอบถาม 65% ที่แสดงความเชื่อมั่นว่าโอบามาจะทำในสิ่งที่ถูกที่ควรในการแก้ปัญหาระดับโลก ขณะที่ในญี่ปุ่นนั้น 76% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 700 คนเชื่อเช่นเดียวกัน ซึ่งลดลง 9% จากการสำรวจปีที่แล้ว แต่ถึงกระนั้นญี่ปุ่นก็ยังเป็นประเทศในเอเชียที่เชื่อมั่นในโอบามามากที่สุดจากการสำรวจนี้ โดยประเทศอื่นในเอเชียที่มีการสำรวจประกอบด้วยจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และปากีสถาน
แอนดรูว์ โคฮัท ประธานศูนย์วิจัย Pew กล่าวว่า ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ค้นพบในการสำรวจครั้งนี้คือ การที่คะแนนนิยมของโอบามาและประเทศสหรัฐอเมริกาลดลงใน 7 ประเทศโลกมุสลิม
นางแมเดอลีน อัลไบรท์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานร่วมของโครงการวิจัยนี้ กล่าวว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับประเทศมุสลิมไม่ค่อยสู้ดีนัก" แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันก็กำลังพยายามอยู่ ขณะเดียวกันนายจอห์น แดนฟอร์ท อดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐและทูตสหรัฐประจำยูเอ็นสมัยประธานาธิบดีบุช ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานร่วมของโครงการวิจัยนี้ ก็แสดงความวิตกเรื่องคะแนนนิยมที่ลดลงในประเทศมุสลิมเช่นกัน
อย่างไรก็ดี นางอัลไบรท์ไม่กังวลมากนักเรื่องทัศนคติทั่วไปที่มีต่อสหรัฐ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าคะแนนนิยมของโอบามาจะช่วยให้เขาสามารถเดินหน้าแก้ปัญหาต่างๆได้ โดยเฉพาะปัญหานิวเคลียร์
ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 65% ในบราซิลไม่เห็นด้วยกับอิหร่านเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์ ทั้งที่บราซิลเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ไม่โหวตสนับสนุนการใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับอิหร่าน
"บ่อยครั้งที่สาธารณชนมีความคิดเห็นแตกต่างจากผู้นำประเทศ" นายโคฮัท กล่าว
แม้ว่าจีนจะได้รับคะแนนนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในการสำรวจ แต่ 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามในญี่ปุ่นแสดงทัศนคติในแง่ลบต่อจีน ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดใน 22 ประเทศที่มีการสำรวจ
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น นางอัลไบรท์ยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังมีความแข็งแกร่งแม้ว่าญี่ปุ่นจะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาหลายคนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็ตาม สำนักข่าวเกียวโดรายงาน