นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) เปิดเผยว่า คณะทำงานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทยได้หารือถึงแผนการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 6 หลังจากที่พรรคฯ มีมติส่งนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ลงสมัครในพื้นที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ทางพรรคเพื่อไทยมีความเป็นห่วงต่อกรณีที่มีการอนุญาตให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่มีบัตรประชาชนแต่มีใบเหลืองสามารถไปลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งกรณีนี้อาจจะทำให้มีการใช้ใบเหลืองไปเวียนเทียนในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าและวันเลือกตั้งจริงได้ เพราะในใบเหลืองไม่ได้มีรูปถ่ายติดไว้
ดังนั้นจึงต้องการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาตรงนี้เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยจะทำหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มาตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งจะขอให้ กกต.กำหนดระเบียบการหาเสียงเลือกตั้งภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ชัดเจนด้วย
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 17-18 ก.ค.รวม 2 วัน และจะมีการเลือกตั้งจริงในวันที่ 25 ก.ค. รวมแล้วทำให้มีการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ถึง 3 วันนั้น พรรคเพื่อไทยเป็นห่วงว่าจะมีการขนคนมาลงคะแนนเหมือนการเลือกตั้งซ่อม ที่ จ.สกลนคร และ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งคราวนั้นส่งผลให้ในวันเลือกตั้งล่วงหน้าพรรคร่วมรัฐบาลได้คะแนนไปถึง 70% ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้เพียง 30% เท่านั้น แต่วันเลือกตั้งจริงปรากฎว่าพรรคเพื่อไทยกลับได้คะแนนเสียงมากกว่าและรับชัยชนะไป
"พรรคจะทำหนังสือถึง กกต.เพื่อให้ลดกระบวนการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเหลือเพียง 1 วัน และให้จัดเวลาสำหรับเลือกตั้งล่วงหน้าเหมาะสมและมีเหตุผล รวมทั้งเรียกร้องให้ กกต.จัดคณะกรรมการจากแต่ละฝ่ายไปเฝ้าหีบบัตรที่มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนหีบบัตรลงคะแนน" นายพร้อมพงศ์ กล่าว
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรคเพื่อไทย กล่าวว่า สำหรับการหาเสียงของนายก่อแก้ว นั้นเบื้องต้นคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปยื่นอุทธรณ์การประกันตัว 11 แกนนำคนเสื้อแดงฯ แล้วโดยจะรอฟังผลในวันพรุ่งนี้(29 มิ.ย.)ว่าศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่ หากศาลไม่อนุญาต ฝ่ายกฎหมายก็จะยื่นประกันตัวนายก่อแก้ว เพียงคนเดียวเป็นกรณีพิเศษในวันที่ 30 มิ.ย.อีกครั้งหนึ่ง
สำหรับแผนการหาเสียงนั้นเบื้องต้นหากกรมราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้นายก่อแก้ว บันทึกภาพและเสียงเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคก็จะให้นายก่อแก้ว เขียนเป็นจดหมายถึงประชาชนว่าจะหาเสียงอย่างไร และมีนโยบายรวมถึงจุดยืนอย่างไร โดยอาจจะส่งไปตามบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งหรือขึ้นป้ายข้อความที่นายก่อแก้วเขียนตามจุดต่างๆ ซึ่งช่วงหาเสียงระยะสั้น นายก่อแก้ว อาจจะต้องเขียนจดหมาย 2-3 ฉบับเพื่อส่งถึงประชาชน