นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการเลือกตั้งซ่อมส.ส.กทม.เขต 6 ว่า พรรคจะเรียกประชุม ส.ส.ในวันที่ 29 มิ.ย.เวลา 15.00 น.เพื่อทำความเข้าใจและจะระดมกำลังช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครของพรรคอย่างเต็มที่แบบถึงลูกถึงคน
สำหรับบรรยากาศการรับสมัครในวันแรกนั้นทำให้พรรครู้สึกวิตกกังวลต่อการหาเสียง เพราะพฤติกรรมของกองเชียร์ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะการนำมวลชนคนเสื้อแดงมาแสดงท่าทีที่ไม่เหมาะสมนั้น ไม่ใช่สัญญาณที่ดีของบรรยากาศการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีจุดแข็งในการหาเสียง 3 ลักษณะคือ 1.การจัดเวทีปราศรัย 2.การเดินเคาะประตูบ้าน และ3.การขึ้นรถแห่โชว์ตัว ซึ่งการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้พื้นที่การเลือกตั้งกว้างและมีเวลาจำกัด วิธีที่เหมาะสมคือการขึ้นรถแห่ประชาสัมพันธ์ แต่จากบรรยากาศในช่วงเช้าของการสมัครรับเลือกตั้งวันนี้ มีการขัดขวางทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียเปรียบ เพราะพรรคการเมืองอื่นอาจจะถนัดในเรื่องการตั้งกลุ่มแกนนำบริหารงานเครือข่ายลูกโซ่ โดยใช้ปัจจัยจูงใจในการเลือกตั้ง
นายเทพไท กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยพยายามพูดถึงเรื่องการฮั้วการเลือกตั้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคการเมืองใหม่นั้น เป็นการสร้างภาพที่ไร้สาระ นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่าจะมีการใช้ใบเหลืองเวียนเทียนในการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาในการเลือกตั้งส.ข.ก็มีการใช้ใบเหลืองแต่ก็ไม่เห็นมีปัญหา แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยถนัดแต่เคลื่อนไหวให้เป็นข่าวไร้สาระ
“จากนี้ไปพรรคเพื่อไทยคงจะมีการพูดถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในการรณรงค์หาเสียง ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อติดตามการปราศรัยและอัดเทปทุกถ้อยคำเพื่อดูว่ามีการปราศรัยใส่ร้ายพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ เพราะหากมีการพูดถึงคลิปเสียงนายกรัฐมนตรีโดยอ้างว่ามีการสั่งให้ฆ่าประชาชนก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมายในมาตราดังกล่าวได้"นายเทพไท กล่าว
ขณะที่ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษก ปชป. กล่าวว่า พรรคมีข้อวิตกกังวลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือความเสี่ยง 2 ประการที่จะกระทบความเชื่อมั่นว่าบ้านเมืองกลับสู่ความสงบจริงหรือไม่ คือ 1. การเตรียมคนนอกพื้นที่เขต 6 เพื่อเตรียมสร้างความวุ่นวายในพื้นที่ ซึ่งหลายฝ่ายมีการยืนยันว่ามีการระดมคนเสื้อแดงเข้ามาในพื้นที่โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน แต่จากเหตุการณ์ทุบรถผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเป็นการเตรียมสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายและอาจจะพยายามยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าและสุมเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง
และ ความเสี่ยงที่ 2 คือ การเตรียมการจะใช้วิธีการปลุกระดมในเรื่องความขัดแย้งจากความวุ่นวายทางการเมือง การดูแลรักษาความสงบจากการชุมนุมทางการเมือง มากกว่าการแข่งขันที่ตัวบุคคล หรือนโยบาย ซึ่งตรงกับความเคลื่อนไหวของสื่อใต้ดินในพื้นที่ ทั้งวิทยุชุมชนและใบปลิวที่จากการพบเบาะแสในเบื้องต้น ยังมีลักษณะถ้อยคำที่สร้างความแตกแยกในบ้านเมืองในการกล่าวหาองค์กรและสถาบันที่อยู่นอกความขัดแย้งทางการเมือง เพี่อหวังจะให้การแบ่งข้างระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
"นี่อาจจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นผลดีต่อผู้กระทำในการเลือกตั้ง แต่ที่สุดแล้วสังคมก็จะถูกแบ่งแยกและความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วก็จะยิ่งสูงมากขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันไม่ให้ความเสี่ยงทั้งสองนี้สัมฤทธิ์ผลในการทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถเป็นไปตามปกติตามกฎหมายและตามระบอบประชาธิปไตยได้"โฆษก ปชป.กล่าว