In Focus“จูเลีย กิลลาร์ด" สาวมั่นผู้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองแดนจิงโจ้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 30, 2010 10:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เช้าวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างตื่นขึ้นมาพบกับความประหลาดใจ เมื่อออสเตรเลียได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายในชั่วข้ามคืนโดยที่ไม่มีสัญญาณบอกเหตุใดๆ มาก่อน แต่ที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้นคือ ผู้นำคนใหม่ของออสเตรเลียนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ประเทศออสเตรเลีย

ชื่อของเธอคือ จูเลีย กิลลาร์ด

จูเลีย กิลลาร์ด วัย 48 ปี ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของออสเตรเลีย หลังจากที่สมาชิกพรรคแรงงานมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนที่นายเควิน รัดด์ ที่คะแนนนิยมตกต่ำอย่างหนักอันเนื่องมาจากการชูนโยบายจัดเก็บภาษีธุรกิจเหมืองแร่และการตัดสินใจชะลอโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งสถานการณ์ที่ย่ำแย่เช่นนี้อาจทำให้พรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การเปลี่ยนผู้นำพรรคจึงเป็นหนทางที่อาจช่วยหลีกเลี่ยงความพ่ายแพ้ได้

ภายหลังเข้ารับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของแดนจิงโจ้ กิลลาร์ดประกาศว่าภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของเธอคือการป้องกันไม่ให้พรรคแรงงานประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ซึ่งสมาชิกรัฐสภาฝ่ายรัฐบาลก็เชื่อว่าเธอน่าจะทำได้ เนื่องจากเธอมีบุคลิกที่อบอุ่นและอ่อนโยนกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีรัดด์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอนโยบายต่างๆ และสำหรับประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคอย่างเรื่องการเก็บภาษีธุรกิจเหมืองแร่นั้น กิลลาร์ดก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาทันทีหลังเข้ารับตำแหน่ง โดยเธอแสดงเจตจำนงว่าต้องการพูดคุยอย่างเปิดอกกับภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ผิดกับนายรัดด์ที่ปฏิเสธการเจรจามาโดยตลอด และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กิลลาร์ดได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาอีกครั้งด้วยการตัดสินใจยุติการทำ "สงครามโฆษณา" โดยสั่งให้รัฐหยุดแพร่ภาพโฆษณาส่งเสริมการเก็บภาษีเหมืองแร่ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ก็ตอบรับด้วยดีโดยการยุติโฆษณาต่อต้านการเก็บภาษีเหมืองแร่เช่นกัน การเคลื่อนไหวของกิลลาร์ดครั้งนี้จึงทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีไมตรีจิตต่อกันมากขึ้น

อีกเรื่องสำคัญที่ดูเหมือนว่ากิลลาร์ดจะมองการณ์ไกลกว่ารัดด์ คือ เรื่องนโยบายการเพิ่มประชากร โดยก่อนหน้านี้นายรัดด์ตั้งเป้าให้ประชากรเพิ่มขึ้นจาก 22 ล้านคนในปัจจุบัน เป็นมากกว่า 36 ล้านคนภายในปีพ.ศ. 2593 ด้วยการเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่และรับคนเข้าเมือง แต่ดูเหมือนว่ากิลลาร์ดจะไม่สานต่อนโยบายดังกล่าว โดยเธอกล่าวว่าต้องการให้ออสเตรเลียมีความยั่งยืนมากกว่ามีประชากรมาก เพราะการมีประชากรมากอาจทำให้ออสเตรเลียประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากร ระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงปัญหาว่างงาน อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่าจะไม่ปิดกั้นผู้อพยพเข้าประเทศ เนื่องจากออสเตรเลียยังต้องการแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าแนวคิดของกิลลาร์ดดูสมเหตุสมผลกว่าแนวคิดของรัดด์มาก

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ในออสเตรเลียเชื่อว่ากิลลาร์ดจะดำเนินนโยบายพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับเอเชียได้ดีกว่านายรัดด์ โดยกล่าวว่านโยบายที่นายรัดด์เคยเสนอมาเดินหน้าไปอย่างเชื่องช้าและไม่เคยประสบความสำเร็จ เข้าทำนองดีแต่พูด ขณะที่กิลลาร์ดมีแนวโน้มว่าจะดำเนินนโยบายได้เป็นรูปธรรมมากกว่านายรัดด์ ที่สำคัญนักวิเคราะห์ยังเชื่อว่าประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นลูกค้าผู้ซื้อแร่รายใหญ่ของออสเตรเลีย น่าจะให้การยอมรับในตัวกิลลาร์ดมากกว่านายรัดด์ เนื่องจากกิลลาร์ดมีความอ่อนน้อมถ่อมตนและไม่แข็งกร้าว

ดูเหมือนว่าความแรงของนายกฯ หญิงแกร่งคนนี้จะฉุดไม่อยู่ เมื่อโพลล์หลายสำนักเปิดเผยผลสำรวจตรงกันว่า พรรครัฐบาลออสเตรเลียได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นหลังการเข้ารับตำแหน่งของกิลลาร์ด โดยผลสำรวจของนีลเซ่นเผยว่า พรรครัฐบาลของกิลลาร์ดมีคะแนนนำพรรคฝ่ายค้าน 55% ต่อ 45% นอกจากนั้นกิลลาร์ดยังได้รับเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่านายโทนี่ แอ็บบ็อต หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ด้วยคะแนน 55% ต่อ 34% ด้านผลสำรวจของแกแล็คซี โพล เผยว่า พรรครัฐบาลมีคะแนนนำพรรคฝ่ายค้าน 52% ต่อ 48% และกิลลาร์ดได้รับเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่านายแอ็บบ็อต 58% ต่อ 32% ด้านผลสำรวจออนไลน์รายสัปดาห์ของ Essential Research เปิดเผยว่า 54% ของผู้ตอบแบบสอบถามสนับสนุนพรรครัฐบาลให้ชนะการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น 2 จุดจากสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่เสียงสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านลดลง 2 จุด แตะที่ 46% ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีกิลลาร์ดก็ได้เสียงสนับสนุน 49% เหนือกว่านายแอ็บบ็อตที่ได้เพียง 29%

เควิน รัดด์ เคยเป็นผู้นำออสเตรเลียที่ได้รับคะแนนนิยมมากที่สุดคนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ลงจากตำแหน่งแบบไม่ค่อยดีเท่าใดนัก ดังนั้นสำหรับ จูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลียที่เปิดฉากอย่างสวยงาม จะสามารถครองใจชาวออสเตรเลียได้อย่างตลอดรอดฝั่งหรือไม่นั้น เราคงต้องดูกันต่อไปอีกยาว

ประวัติโดยย่อ

จูเลีย กิลลาร์ด เกิดเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2504 ในแคว้นเวลส์ของสหราชอาณาจักร เนื่องจากตอนเด็กเธอมีอาการหลอดลมใหญ่และปอดอักเสบ แพทย์จึงแนะนำให้เธออยู่ในประเทศที่มีอากาศอบอุ่น ในปีพ.ศ.2509 พ่อและแม่จึงตัดสินใจพาเธอและพี่สาวอพยพไปตั้งรกรากที่เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย เธอจบการศึกษาหลักสูตรนิติศาสตร์บันฑิตในปีพ.ศ.2529 ในปีถัดมาเธอก็ได้เข้าทำงานที่บริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งในออสเตรเลียโดยดูแลด้านกฎหมายอุตสาหกรรม

ในปีพ.ศ.2541 กิลลาร์ดได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนของเขตเลือกตั้งลาเลอร์ (Lalor) ทางตะวันตกของเมืองเมลเบิร์น ในปีพ.ศ.2544 หลังจากที่พรรคแรงงานพ่ายแพ้การเลือกตั้ง กิลลาร์ดได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีเงาในตำแหน่งรัฐมนตรีเงากระทรวงประชากรและการอพยพย้ายถิ่น ในเดือนกรกฎาคมปีพ.ศ.2546 เธอได้เป็นรัฐมนตรีเงากระทรวงสาธารณสุข

ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2550 เธอได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลีย พร้อมควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม ภายใต้รัฐบาลของเควิน รัดด์ จากนั้นในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2550 เธอก็สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีเมื่อนายรัดด์เดินทางไปประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหประชาชาติที่ประเทศอินโดนีเซีย และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2553 เธอก็สร้างประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดด้วยการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ