ที่ปรึกษา กม."ทักษิณ"ทำจดหมายร้องขอรัฐบาลให้ปฏิบัติตามหลักกฎหมายสากล

ข่าวการเมือง Thursday July 1, 2010 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ พีรอฟฟ์ ซึ่งทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าจ้างให้ต่อสู้คดีตามข้อกล่าวหาผู้ก่อการร้ายได้ทำจดหมายส่งถึงนายกรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญในรัฐบาล เรียกร้องให้ปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการตั้งองค์กรอิสระและเป็นกลาง

"รัฐบาลไทยจะต้องให้องค์กรที่เป็นอิสระและมีความเป็นกลางทำการสอบสวนข้อเท็จจริง เพราะจะต้องมีการใช้กลไกของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะเจาะจงเพื่อให้เกิดหน้าที่โดยทั่วไป ในการตรวจสอบข้อกล่าวหาถึงการละเมิดกฎหมายโดยทันที โดยละเอียดรอบครอบและอย่างมีประสิทธิภาพผ่านทางองค์กรที่เป็นอิสระและมีความเป็นกลางและเป็นหน้าที่ที่ชัดเจนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่า หากการสอบสวนแสดงว่ามีการละเมิดสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินคดีเพื่อทำให้เกิดความยุติธรรม การที่รัฐบาลล้มเหลวในการดำเนินการเช่นนี้อาจถือเป็นการกระทำละเมิดต่อภาระหน้าที่ต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ" จดหมายของสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัมฯ เรื่อง การดำเนินการสอบสวนกรณีที่มีผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง(เม.ย.-พ.ค.53) ที่ระบุผ่านทางเว็บไซต์ www.robertamsterdam.com

โดยจดหมายดังกล่าวได้ส่งไปถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ(คอป.), นายกิติพงษ์ กิติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะเลขานุการ คอป. และนายธาริต เพ็งดิษ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

เนื้อหาในจดหมายระบุว่า สำนักงานกฎหมายดังกล่าวทำหน้าที่เป็นทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นที่ปรึกษาของทีมทนายความไทยของกลุ่ม นปช.ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53

"การดำเนินการของรัฐบาลไทยที่เป็นการละเมิดหลักประกันต่อพลเรือนว่าจะไม่ถูกกระทำวิสามัญฆาตกรรมและการกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ตามอำเภอใจ อาจเป็นการกระทำที่เป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ แม้ว่าการกระทำต่างๆ ของรัฐบาลจะอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเหตุกรณีพิเศษ"

นอกจากนี้ ภายใต้หลักการของกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว ลูกความของสำนักงานฯ และคณะทนายความที่ดำเนินการสู้คดีแก่ลูกความเหล่านี้จึงมีสิทธิที่จะร้องขอต่อรัฐบาลไทยให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ให้ดำเนินการผ่านทางองค์กรที่มีความอิสระและเป็นกลาง สืบสวนสอบสวนถึงการใช้กำลังอาวุธโดยหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่กระทำต่อประชาชนผู้ร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.53 อย่างเป็นธรรมและสมบูรณ์ 2.ให้ท่านเก็บรักษาพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งวัตถุพยาน พยานในทางนิติเวช เอกสาร เทปบันทึกภาพและเสียงที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานราชการของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม รวมถึงพยานหลักฐานของหน่วยงานของรัฐบาลเกี่ยวข้องกับการชุมนุม และพยานหลักฐานที่อาจบ่งชี้ถึงการกระทำที่อาจเป็นการผิดกฎหมายอาญาของอดีตนายกรัฐมนตรี หรือบรรดาแกนนำ นปช.ในสวนที่เกี่ยวกับการชุมนุม 3.ขอให้เปิดเผยรายละเอียดของพยานหลักฐานต่างๆ ต่อคณะทนายความของลูกความของสำนักงานฯ โดยละเอียดและในทันที 4.ขอให้อนุญาตและเปิดโอกาสให้คณะทนายความผู้ดำเนินการแทนลูกความของสำนักงานฯ ตรวจสอบพยานต่างๆ

5.ขอให้อนุญาตให้คณะทนายความผู้ดำเนินการแทนลูกความของสำนักงานฯ เข้าร่วมในการสัมภาษณ์ การสอบปากคำพยาน หรือการสอบสวนบุคคลใดๆ โดยหน่วยงานของรัฐบาลไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการชุมนุม 6.ขอให้เปิดโอกาสให้คณะทนายความของลูกความของสำนักงานฯ เข้าถึงเพื่อการตรวจสอบเอกสารหลักฐานในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่อการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และ 7.ขอให้คณะทนายความของลูกความของสำนักงานฯ มีโอกาสที่จะเข้าถึงวัตถุพยานและรายงานทางนิติเวช

พร้อมกันนี้สำนักงานกฎหมายฯ ได้แนบสำเนาจดหมายที่ส่งถึงมาดาม นาวิ พิเลย์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ศาสตราจารย์ เนื้อหาอ้างถึงการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิของพลเรือน ICCPR เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1996 ซึ่งตามสนธิสัญญา ICCPR กำหนดโดยชัดเจนว่ารัฐต้องให้หลักประกันแก่พลเรือนภายใต้สนธิสัญญานี้ ในกรณีที่เกิดความไม่สงบทางการเมือง หรือเหตุฉุกเฉินสาธารณะอื่นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ