นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “รัฐบาลได้อำนาจในการปกครองประเทศ : ชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่” จัดโดย คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภาว่า การได้มาซึ่งอำนาจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ด้วยการโหวตในสภาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 51 อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าส.ส.ในสภาของ 3 พรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่ง ยุบเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 51 ยังมีสมาชิกภาพอยู่ แต่เมื่อไม่ได้สังกัดพรรค ทำให้ไม่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ
ทั้งนี้ การโหวตเลือกนายกฯวันที่ 15 ธันวาคม 51 มีส.ส.ของพรรคที่ถูกยุบได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย เข้าไปโหวตด้วย ย่อมเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการนำพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไปแล้วเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันดังกล่าว จึงถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นในอนาคตหากมีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ การโหวตเลือกนายกฯคนใหม่อาจมีปัญหาหากเทียบเคียงกับกรณีนี้
เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50 ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานภาพของ ส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคการเมืองอยู่ตลอดเวลา และการทำหน้าที่ ส.ส.ต้องทำขณะที่มีสถานภาพความเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอยู่ด้วย ซึ่งมาตรา 20 วรรคหก ของ พ.ร.บ.ประกอบฯ ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดสมาชิกภาพของส.ส.ของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและยังไม่ไปหาพรรคการเมืองอื่นสังกัด ให้ยังคงเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป
ด้านนายกฤช เอื้อวงศ์ ผอ.สำนักกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ สำหนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 93 บัญญัติว่า องค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรต้องประกอบด้วยส.ส. 480 คน ซึ่งสามารถทำหน้าที่ในสภาได้ และมาตรานี้ไม่ได้พูดถึงสภาพของพรรคการเมือง และที่ส.ส.โหวตในวันนั้นก็ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 106 (8) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 20 (5) เนื่องจาก กฎหมาย 2 มาตรานี้ เป็นบทเฉพาะกาลในกรณีพรรคการเมืองถูกยุบจากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ส.ส.ยังไม่ได้สิ้นสภาพไปในทันทีเพราะมีเวลาหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน จึงมีสิทธิ์ทำหน้าที่ในสภาตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 93