นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ น่าน นครสวรรค์ และนครปฐม จากทั้งหมด 24 จังหวัด เนื่องจากทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)เห็นว่าสถานการณ์ในบางจังหวัดได้คลี่คลายลงไปแล้ว และหากมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นก็สามารถประกาศบังคับใช้ใหม่ได้
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ครม.วันนี้นายกรัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นเพื่อขอให้พิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง รวมถึงเจ้าหน้าที่ภายในจังหวัดก็เข้าใจและให้ความร่วมมือกับรัฐบาล แม้ว่าในวันนี้ที่ประชุม ครม.ส่วนใหญ่จะมีความเห็นคล้อยตามกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ที่ขอให้มีการคง พ.ร.ก.ไว้ในพื้นที่ทั้ง 24 จังหวัด
"ท่านสุเทพ เห็นว่าควรจะคงพ.ร.ก.ในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งรัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็สนับสนุนที่ท่านสุเทพพูด แต่นายกฯบอกว่าขอเป็นเสียงส่วนน้อยแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งจังหวัดไหนหากสถานการณ์คลี่คลายไม่มีปัญหามากนักก็ควรให้ยกเลิก...ท่านนายกฯ บอกว่าดีกรีแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน ข้าราชการเริ่มดูแลกันได้มากขึ้น หลังจากที่ ครม.ได้ฟังความคิดเห็นของนายกฯก็ไม่มีใครขัดข้อง " นายองอาจ กล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันว่า จังหวัดไหนที่มีการยกเลิกไปแล้วและหากพบว่ายังเกิดปัญหาขึ้นอีก รัฐบาลก็มีอำนาจที่จะนำ พ.ร.ก.มาประกาศใช้อีกครั้งได้ ทั้งนี้ นายสุเทพ ก็ได้พูดกับที่ประชุมว่า ต่อไปอาจทำงานลำบากมากขึ้น หลังจากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ในบางจังหวัด แต่ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลมีการยกเลิกในบางจังหวัดได้
ขณะที่นายปณิธาน วัฒนายากร รองเชาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องนี้ค่อนข้างมากเพื่อความรอบคอบ โดยนายกรัฐมนตรีให้หลักการว่าบ้านเมืองกำลังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู เยียวยา และพัฒนา ดังนั้นรัฐบาลจะร่วมทำงานกับท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีความจำเป็นต้องคงประกาศไว้ในพื้นที่ 19 จังหวัด เนื่องจากยังมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ ส่วนจังหวัดที่ยกเลิกไปแล้วก็ยังมีการเฝ้าระวังอยู่
"ใน 5 จังหวัดนั้นให้ยกเลิก ส่วนจังหวัดอื่น(19 จังหวัด)ให้ขยายให้ครบ 3 เดือน เมื่อครบ 3 เดือนแล้วจะมีการพิจารณาอีกครั้ง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้นานาชาติเห็นว่าเราได้เริ่มกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาแล้ว แต่ยังมีปัญหาในบางพื้นที่เราก็ต้องยอมรับความจริง" นายปณิธาน กล่าว