(เพิ่มเติม1) นายกฯ เผย ครม.ไฟเขียวหลักการ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ครอบครองอาวุธ

ข่าวการเมือง Tuesday July 6, 2010 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับผู้ครอบครองอาวุธของทางราชการที่สูญหายไปในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาแล้วจะกำหนดช่วงเวลาให้ผู้ครอบครองอาวุธดังกล่าวนำมามอบให้แก่ทางราชการภายใน 60 วันแล้วจะไม่มีความผิด

"คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการที่จะให้ประชาชนนำอาวุธมาคืน ทั้งอาวุธปืน อาวุธสงคราม และระเบิด โดยไม่มีความผิด แต่เรื่องนี้ต้องผ่านสภาฯ ก่อน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า อาวุธปืนของทางราชการที่สูญหายไปในช่วงดังกล่าวมีหลายประเภท เช่น ปืนเอ็ม 16 และทราโว่ จำนวนราว 27 กระบอก

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการตามที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) เสนอ ในการยกร่าง พ.ร.บ.เพื่อยกเว้นความผิดทางแพ่งและอาญาให้แก่บุคคลที่มีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ไม่ได้รับอนุญาตในการครอบครอง หรือไม่ได้มีการออกใบอนุญาตไว้ เพื่อให้สามารถนำกลับมาคืนแก่ทางราชการ

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์สำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อต้องการเปิดโอกาสหรือเป็นช่องทางให้บุคคลที่มีอาวุธสงครามโดยการครอบครองโดยไม่มีใบอนุญาตหรือผิดกฎหมาย ได้นำอาวุธเหล่านั้นกลับคืนเข้าระบบของทางราชการ โดยปราศจากข้อหาหรือความผิดทั้งทางแพ่ง และทางอาญา

กฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการฟื้นฟูเยียวยา โดยใช้กลไกเรื่องการออกกฎหมายยกเว้นความผิดทั้งทางแพ่งและอาญากับผู้ครอบครองอาวุธปืน วัตถุระเบิด และเครื่องกระสุนที่ไม่ได้รับอนุญาต

"จะเป็นมาตรการหนึ่งในการจะดึงอาวุธสงครามกลับเข้าสู่ระบบ การดูแลของเจ้าหน้าที่ แต่คงไม่ใช่เรื่องง่าย การออกกฎหมายต้องพิจารณาอย่างรัดกุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...วัตถุประสงค์ชัดเจนว่า คนที่มีอาวุธเหล่านี้ และจะมีผลกระทบต่อสถานการณ์ ก็สามารถใช้ช่องทาง หรือทางเลือกในการส่งคืน โดยไม่มีความผิด" นายวัชระ กล่าว

นายปริธาน กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวนั้นในอดีตหน่วยงานด้านความมั่นคงได้เคยปฏิบัติมาแล้ว แต่การพิจารณายกร่างกฎหมายขึ้นใหม่นี้ จะต้องทำควบคู่กับกระบวนการอื่นๆ อย่างรัดกุม ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ