การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 54 ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม ซึ่งกรรมาธิการฯ ด้านฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยได้ซักถามถึงคุณภาพการทำงานของกรมดีเอสไอว่ายึดระบบคุณธรรม จริยธรรมมากน้อยเพียงใดกับการทำงานในปัจจุบัน
นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี ได้ฝากถามไปยังอธิบดีดีเอสไอถึงคดีล้มเจ้าและคดีผู้ก่อการร้ายที่เกิดขึ้น ว่าได้ให้ความหมายของคำว่าผู้ก่อการร้ายอย่างไร มีความเป็นไปได้จริงแท้เพียงใดที่จะมีผู้ใดคิดล้มล้างสถาบันตามที่มีการตั้งข้อกล่าวหา
"เรื่องงบประมาณไม่ติดใจ แต่ติดใจเรื่องความคิดและมุมมองวิสัยทัศน์ของดีเอสไอ อยากทราบว่าการดำเนินการสอบสวนของดีเอสไอในบางเรื่อง ถูกการเมืองสั่งจริงหรือไม่ ขอฝากว่าอยากเห็นความเป็นธรรมในสังคม หากอะไรที่ฝ่ายการเมืองสั่งการไม่ถูกต้องก็อย่าไปเกรงใจ" นายสุชาติ กล่าว
ด้านน.ส.ละออง ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย กล่าวว่า การประเมินผลงานของดีเอสไอที่ระบุว่ารักษาผลประโยชน์ชาติได้กว่า 2.5 หมื่นล้านบาท กับงบประมาณที่ตั้งขอในปีนี้ที่ 732 ล้านบาท มีตัวชี้วัดอย่างไรที่จะบอกได้ว่าการทำงานของดีเอสไอที่ผ่านมามีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ยังหวังว่าดีเอสไอจะเป็นหน่วยงานช่วยสร้างความปรองดองและความเป็นธรรมในสังคมได้ แต่อยู่ที่สำนึกของคนทำงานด้วยว่าทำอยู่บนผลประโยชน์ชาติประชาชนแค่ไหน
นางนุสรา ยังตรง ส.ส.สมุทรปราการ กล่าวว่า ทุกคดีพิเศษที่เข้าสู่การพิจารณาของดีเอสไอถือว่าสังคมให้ความสนใจมาก จึงต้องการทราบว่าคดีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิได้ถูกนำเข้าเป็นคดีพิเศษแล้วหรือไม่ เพราะคดีของพันธมิตรฯ ถือเป็นคดีผู้ก่อการร้ายยึดสนามบินที่สามารถเทียบเคียงกับคดีเสื้อแดงได้ เมื่อคดีของคนเสื่อแดงเป็นคดีก่อการร้ายและเป็นคดีพิเศษ ดังนั้นคดีของพันธมิตรฯ ก็น่าจะเป็นคดีพิเศษได้เช่นกัน
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้แจงว่า วิสัยทัศน์ของดีเอสไอคือการบริหารและยกระดับความเป็นมืออาชีพในการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะการมีคุณธรรม จริยธรรม สำหรับคดีล้มเจ้าและคดีก่อความไม่สงบเป็นคดีที่ตั้งต้นมาจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) เมื่อคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้ดีเอสไอทำคดีนี้ ดีเอสไอถือว่าศอฉ.เป็นคนเริ่มต้นคดี ซึ่งดีเอสไอจะทำหน้าที่เป็นคนกลางให้ดีที่สุดในฐานะเจ้าพนักงานสอบสวน
ส่วนที่มองว่าผู้ต้องหาหลายคนไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ยืนยันว่าจะตรวจสอบตรงไปตรงมา ไม่ได้ทำงานโดยลำพังแต่ได้ร่วมกับหน่วยงานอีก 12 หน่วยงาน รวมถึงอัยการสูงสุด ซึ่งคดีล้มเจ้าหรือก่อความไม่สงบยังไม่ไปถึงการสั่งฟ้องยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานและเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง
"สำหรับคดีเสื้อเหลือง ผมเห็นด้วยทุกประการว่าควรจะเป็นคดีพิเศษ แต่การนำเรื่องคดีดังกล่าวมาเป็นคดีพิเศษ เป็นเรื่องที่เกินวิสัยของดีเอสไอจะทำเองได้ เพราะยังไม่มีฝ่ายใดเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อลงมติให้นำคดีนี้เป็นคดีพิเศษ โดยคณะกรรมการคดีพิเศษมีถึง 20 กว่าคน มีผมคนเดียวที่เป็นดีเอสไอ เมื่อไม่ได้เสนอเรื่องขึ้นมาจึงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะจะเป็นการก้าวล่วงในหน้าที่คนอื่น" นายธาริต กล่าว
นายธาริต ให้ความเห็นส่วนตัวว่า น่าจะเข้าข่ายเป็นดคีพิเศษได้ และทราบว่าขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีข้อสรุปแล้วที่จะสั่งฟ้องเป็นคดีก่อการร้าย ซึ่งเชื่อว่าตำรวจทำสำนวนรัดกุมดีพอ และเชื่อว่าศาลจะสั่งคดีด้วยมาตรฐานเดียวกับเสื้อแดง