วุฒิสภาจี้ DSI ให้วางตัวเหนือการเมือง หวั่นประชาชนไม่มั่นใจในการทำคดี

ข่าวการเมือง Monday July 12, 2010 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในการประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา ที่มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการ ได้เชิญตัวแทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เข้ามาชี้แจงถึงการดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย พ.ต.ท.เสกสรร ศรีตุลาการ รองอธิบดีดีเอสไอ ได้เป็นตัวแทนเข้าชี้แจง

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทการทำหน้าที่ของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ที่เป็นกลไกทางกระบวนการยุติธรรม แต่การทำงานกลับทำตัวเหมือนเป็นลูกน้องของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะส่งผลถึงการให้ความเป็นธรรมในคดีต่างๆ และเป็นห่วงว่า หากประชาชนเชื่อว่าดีเอสไอรับใช้ฝ่ายบริหาร จะทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงฝากให้อธิบดีดีเอสไอแยกแยะสถานะที่เป็นอยู่กับการเมือง รวมทั้งหาวิธีสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเชื่อถืออย่างแท้จริง

ขณะที่ พ.ต.ท.เสกสรร ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสอบสวนของดีเอสไอ ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งทุกรัฐบาลจะเข้ามาขอให้ดีเอสไอช่วยทำคดีต่างๆ ซึ่งตนก็พูดลำบาก แต่อยากให้ดีเอสไอเป็นองค์กรอิสระเหมือนอย่างเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามา ซึ่งบางเรื่องก็ไม่สามารถพูดได้

สำหรับการจับกุมตัวผู้ต้องหาที่กระทำความผิดภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องหาได้มากกว่า 30 คน ซึ่งหลังครบกำหนดการควบคุมตัว ตำรวจได้ส่งมอบผู้ต้องหาให้ดีเอสไอนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา ซึ่งกระบวนการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีนั้น ดีเอสไอได้พิจารณาถึงความเชื่อมโยงในการใช้โทรศัพท์ของแต่ละกลุ่ม การทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้อาวุธและวัตถุพยานที่ใช้ก่อเหตุ โดยอ้างอิงการตรวจสอบของกองพิสูจน์หลักฐาน และสำนักนิติวิทยาศาสตร์เพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีต่างๆ ซึ่งจากการนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกันสามารถมองได้ว่าผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันหรือใช้อาวุธจากแหล่งเดียวกัน

พ.ต.ท.เสกสรร กล่าวว่า สำหรับกรณีนายเมธี อมรวุฒิกุล แนวร่วม นปช. ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์และรับของโจรที่ครอบครองอาวุธปืนทราโว่ของราชการนั้น ดีเอสไอได้อนุญาตให้ประกันตัวไปแล้ว และได้กันตัวนายเมธี ไว้เป็นพยานในคดีก่อการร้าย โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้สอบถามถึงคดีเกี่ยวกับสถาบันที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ ซึ่ง พ.ต.ท.เสกสรร ชี้แจงว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) รับเรื่องไว้ประมาณ 1,000-2,000 คดี แต่หากทาง สตช.ส่งสำนวนมา ดีเอสไอก็ต้องตรวจสอบว่าสำนวนที่ส่งมาเกี่ยวข้องกับสถาบันจริงหรือไม่ เพราะบางเรื่องที่เป็นคดีเล็กๆ ไม่ถึงขั้นเป็นขบวนการหรือเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ก็จะไม่รับเป็นคดีพิเศษ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ