ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ของ บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย(TPI) โดยมิชอบ
"การกระทำของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร จึงมีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157" นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าว
โดยสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รมว.คลัง ได้มาปรึกษาเรื่องที่จะให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ TPI ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เห็นชอบและเสนอชื่อ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ และนายทนง พิทยะ เป็นคณะผู้บริหารแผนฯ ซึ่งภายหลังกระทรวงการคลังได้ยินยอมเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการอันเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ
สำหรับ ร.อ.สุชาติ ได้ถึงแก่กรรมในระหว่างการไต่สวน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) จึงมีมติให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
ส่วนข้อกล่าวหานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั้นไม่ปรากฏว่ารู้เห็นหรือยินยอมในการที่กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนด้วย ขณะที่ผู้แทนกระทรวงการคลังที่เข้าเป็นคณะผู้บริหารแผนได้กระทำตามหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งเท่านั้น