ที่ปรึกษากฎหมายฯ อ้างประกาศคปค.ให้"คุณหญิงจารุวรรณ"เป็นผู้ว่าสตง.ต่อ

ข่าวการเมือง Friday July 16, 2010 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว.เสนอความเห็นให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป โดยอ้างคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมาพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(คปค.) ไม่สนใจเงื่อนไขเรื่องอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

รายงานข่าวจากวุฒิสภา เปิดเผยว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาได้มีคำสั่งมอบหมายให้คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา พิจารณาเสนอความเห็นทางกฎหมาย ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) มีหนังสือด่วนที่สุดที่ ตผ 0004/2698 ลงวันที่ 2 ก.ค.53 เรื่องปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา) ที่มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.53 ต้องพ้นจากตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2540 มาตรา 34 (2) ประกอบมาตรา 302(3) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯ พิจารณาเสร็จแล้วมีความเห็นว่า คุณหญิงจารุวรรณได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยผลของกฎหมายโดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.50 แต่ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมาพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 29 ข้อ 2 และ 3 วรรคสอง กำหนดให้ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการสรรหาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องนำประเด็นปัญหาการพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์มาบังคับอีก

สำหรับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯ มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เป็นประธาน และกรรมการ ประกอบด้วย นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายวรินทร์ เทียมจรัส, นายสมัคร เชาวภานันท์, นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา, นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว.

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.โดย สตง.ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายของคุณหญิงจารุวรรณมาก่อน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการสรุปรายงานดังกล่าวมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกันเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะจะมีประเด็นปัญหาทางข้อกฎหมายตามมาว่าคุณหญิงจารุวรรณจะสามารถเข้ามาเป็น 1 ใน 7 คณะกรรมการสรรหาวุฒิสภาที่จะมีขึ้นประมาณเดือน มี.ค.54 ได้หรือไม่ เพราะ 1 ใน 7 นั้นจะต้องมีประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินโดยตำแหน่งด้วย ขณะที่ ส.ว.สรรหาเหล่านี้ยังสามารถเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.ได้อีกรอบ ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่งถึง 6 ปี และยังเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายเนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการสรรหากรรมการฯ และผู้ว่าการฯ ใหม่ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ