รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เรียก นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล คาดว่าจะมีการหารือถึงความเป็นไปได้และแนวทางการยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากที่นายอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ออกแถลงการณ์เสนอให้นายกรัฐมนตรี ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อสร้างความสมานฉันท์
วานนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้มีการประชุมคณะกรรมการ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 โดยเห็นว่าหากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน น่าจะทำให้บรรยากาศบ้านเมืองดีขึ้น และในอนาคตหากเกิดปัญหาขึ้นก็อาจมีการทบทวนการใช้ พ.ร.ก.ใหม่ได้
ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางของรัฐบาลก็เห็นสอดคล้องอยู่แล้วกับข้อเสนอดังกล่าวของนายอานันท์ ซึ่งหากหน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณาแล้วเห็นว่าในพื้นที่ใดที่สถานการณ์มีความปกติและไม่ต้องมีกฎหมายพิเศษมาบังคับใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ก็สามารถยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ แต่หากในพื้นที่ใดยังมีความจำเป็นอยู่ ก็คงไม่สามารถยกเลิกได้
"โดยหลักการก็สอดคล้องกันอยู่แล้ว ท่านนายกฯ ได้ให้หลักการที่ชัดเจนกับ ครม.ไว้ว่าจะพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ไปตามลำดับกับพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่สามารถใช้กฎหมายปกติได้ แต่การยกเลิกต้องให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้ประเมิน จาก 6-7 ปัจจัย ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าในพื้นที่ใดสามารถใช้กฎหมายปกติได้ โดยไม่ต้องใช้กฎหมายพิเศษ(พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ก็สามารถยกเลิกได้" นายปณิธาน กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
โดยปัจจัยที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ใช้พิจารณาว่าจะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ใดนั้น ประกอบด้วย การชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย, การใช้สื่อบิดเบือนยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้า, การสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ, ความเคลื่อนไหวในต่างประเทศที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, การปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองที่รุนแรง, การสร้างความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ, การข่มขู่คุกคามผู้นำ
นายปณิธาน กล่าวว่า จากปัจจัยทั้งหมดนี้ ศอฉ.จะพิจารณาเป็นรายสัปดาห์ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นว่าตัวแปรเหล่านี้ดีขึ้นในจังหวัดนั้นๆ ก็สามารถจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้
"ในส่วนของความมั่นคงก็ต้องพิจารณาตามนั้น แต่ในส่วนของการเมือง เรื่องแนวทางในการปรองดอง หากยังมายึดสี่แยก มายิงถังน้ำมัน ก็คงไม่ปรองดองอยู่ดี เพราะฉะนั้น 2 ส่วนนี้ต้องเดินคู่กัน หากเขายังใช้สื่อยั่วยุ กล่าวร้ายผู้นำ อย่างนี้ก็ไม่ปรองดอง" โฆษกรัฐบาล กล่าว