ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีที่นายอุดม โปร่งฟ้า ทนายความรับมอบอำนาจจากนายบดินทร์ วัชโรบล ผู้สื่อข่าวอิสระ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 13 คน ในความผิดฐานพยายามฆ่า และทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และ 289 กรณีผู้ที่เกี่ยวข้องสั่งการให้ใช้กำลังทหาร พร้อมอาวุธยุทธภัณฑ์เข้าทำการสลายชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้า และใช้อาวุธและกระสุนจริงยิงเข้าใส่จนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งปัจจุบันกระสุนปืนยังฝังอยู่ในร่างกายไม่สามารถผ่าตัดนำกระสุนออกมาได้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีหากจำเลยเป็นนายกรัฐมนตรีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นตัวการ หรือให้จำเลยอื่นฆ่า หรือพยายามฆ่าผู้อื่น อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(1)(2) จึงไม่รับฟ้อง
สำหรับผู้ที่ถูกยื่นห้องในคดีนี้ นอกจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.), พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ., พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง.ผบ.ทบ., พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ., นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี,
พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1, พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผบ.พล.ร.2 รอ., พ.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.2 รอ.), พ.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผู้บังคับการ ร.21 รอ., พ.ท.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12 (ร.12 พัน.2) และ พ.ท.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ ผบ.ม.พัน 3 รอ.