คดียุบ ปชป.เพิ่มดีกรีร้อนไม่ว่าออกหัว-ก้อย พรรคขนาดกลางตัวแปรสำคัญชี้เป็นชี้ตาย

ข่าวการเมือง Friday July 30, 2010 10:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการด้านการเมืองเห็นพ้องสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากสิ้นสุดคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จะเพิ่มความร้อนแรง กรรีถูกยุบเปลี่ยนผู้เล่นหน้าเดิมเข้ามาในชื่อใหม่ ทุกพรรคน่าจะมีการโหมหาเสียงครั้งใหญ่ช่วงชิงจังหวะโอกาสเปิด แต่ถ้าไม่ถูกยุบเสถียรภาพรัฐบาลอาจถูกเขย่าหนักขึ้น เตือนรัฐอย่ามัวแต่สนใจปัญหาการเมืองจนลืมหน้าที่สำคัญด้านอื่น เชื่อเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคขนาดกลางจะเป็นตัวแปรสำคัญถึงขนาดชี้เป็นชี้ตายได้ และอาจถึงขั้นมีสิทธิลุ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)ถูกยุบ คงไม่ทำให้การเมืองไทยลดความร้อนแรงลงไป แต่จะยิ่งเพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น เพราะการต่อสู้ของทายาท ปชป.ภายใต้ชื่อพรรคใหม่ที่ประชาชนไม่รู้จักไม่คุ้นเคยต้องดึงคะแนนความนิยมกลับมา เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่าเดิม จึงเชื่อว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า

และผลพวงจากที่บุคลากรทางการเมืองระดับสำคัญหากต้องมีอันถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จะทำให้บทบาทของกรรมการบริหารพรรคที่เป็นทายาทรุ่นใหม่ของ ปชป.ไม่มีความเชี่ยวชาญทางการเมืองเหมือนรุ่นเก่า แนวโน้มพรรคขนาดกลาง-เล็ก มีโอกาสจะกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน

พรรคขนาดกลางที่ขณะนี้ก็กำลังรอจังหวะและรอโอกาสพรรคใหญ่เพลี่ยงพล้ำ กรณีนี้พรรคขนาดกลางอาจเป็นที่รองรับคนบางส่วนที่แตกออกมาจากพรรคของรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน แต่ถ้าให้วิเคราะห์แล้วเชื่อว่าการที่พรรคขนาดกลางจะได้คนของประชาธิปัตย์เข้ามาอยู่ด้วยมีโอกาสค่อนข้างน้อยกว่าที่จะได้คนจากพรรคฝ่ายค้านเข้ามา

"สมมติว่าเกิดวิกฤติกับรัฐบาล การที่ ปชป.จะแตกกลุ่มไปอยู่กับพรรคขนาดกลางคงจะมีน้อย ไม่มากเท่ากับกรณีเกิดวิกฤติกับฝ่ายค้าน เพราะโดยลักษณะของอุดมการณ์ทางการเมือง และตัวบุคคลที่ประกอบเป็นพรรคขนาดกลาง จะสามารถเข้ากันได้กับกลุ่มทีเป็นฝ่ายค้านในปัจจุบันมากกว่า"นายสมชัย กล่าว

นอกจากนี้ด้วยความที่ปูมหลัง ประวัติทางการเมือง และความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันระหว่างพรรคขนาดกลางกับพรรคฝ่ายค้านใกล้เคียงกันมากกว่า เห็นได้ว่าพรรคภูมิใจไทยและพรรคขนาดกลางอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นพรรคที่แยกมากจากพรรคไทยรักไทย ดังนั้น ความใกล้ชิดความเป็นเนื้อเดียวกันจะมีมากกว่า ขณะที่ ปชป.มีแนวคิด ปูมหลัง และประวัติที่แตกต่างไปจากภูมิใจไทย

สอดคล้องกับนายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค ปชป.จริงย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างแน่นอน แต่เชื่อว่าแกนนำพรรคคงเตรียม"ทางหนีทีไล่"ไว้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลามากน้อยเพียงใด เพราะไม่ได้กำหนดไว้ตายตัว แต่ก็เป็นเรื่องที่สังคมจับตาดูอยู่ คาดว่าน่าจะรู้ผลภายใน 1-2 เดือน

"เรื่องส่งไปแล้วก็คงไม่มีการสอบสวนเพิ่ม แต่บางทีศาลอาจให้โอกาส คิดว่าประมาณ 2-3 เดือน...สิ้นปีคงช้าไป" นายอัษฎางค์ กล่าว

*กรณีถูกยุบพรรค ทำได้แต่ในนาม-ทายาทพร้อมสานต่อแต่ดีกรีไม่เทียบเท่า

นายสมชัย มองว่า หากมีการตัดสินยุบพรรค ปชป.จะเกิดผลใน 3 ด้าน คือ ผลในด้านแรก ความเป็นสถาบันพรรคการเมืองเก่าแก่ของ ปชป.ที่ถูกสั่งสมมานานจะยุติลง อาจทำให้เกิดความรู้สึกเสียขวัญกำลังใจด้านส่วนของกรรมการบริหารพรรค, ส.ส.และสมาชิกพรรค ตลอดจนประชาชนที่ให้การสนับสนุน

ผลด้านที่ 2 ในแง่กรรมการบริหารพรรค ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี,รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และทำให้การเมืองไทยขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ซึ่งบุคคลเหล่านี้บ่มเพาะประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในฐานะฝ่ายค้านที่เคยทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล หรือในฐานะฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารงานในกระทรวงต่างๆ มาแล้ว

ดังนั้น หาก ปชป.ถูกยุบพรรค จะทำให้คนกลุ่มนี้ถูกตัดออกจากวงจรทางการเมือง ไม่สามารถทำหน้าที่ผู้บริหาร หรือไม่สามารถใช้ประสบการณ์ทางการเมืองที่มีอยู่โดยตรง ต้องถอยไปอยู่ฉากหลังหรือไปเป็นนักวิชาการ นักกฎหมาย หรือนักธุรกิจ

"ทำให้คนที่เชี่ยวชาญทางการเมืองค่อนข้างมากกลุ่มหนึ่งออกจากวงจรการเมือง และจำเป็นต้องมีคนกลุ่มใหม่ที่มาแทน แต่ผมไม่เชื่อว่าจะมีความสามารถหรือเชี่ยวชาญทางการเมืองมากกว่าคนกลุ่มปัจจุบัน อาจได้คนฝืมือและประสบการณ์รองลงมา" นายสมชัย กล่าว

ผลด้านที่ 3 ในแง่ความต่อเนื่อง เชื่อว่าในความเป็นพรรค ปชป.คงไม่ทิ้งกัน คงไม่ใช่ยุบพรรคแล้วแยกไปอยู่พรรคอื่นหรือไปเสริมความเข้มแข็งให้พรรคการเมืองอื่น ถ้ามีก็คงส่วนน้อยไม่เกิน 10% ที่อาจตัดสินใจย้ายพรรค แต่ส่วนใหญ่คงอยู่ด้วยกันภายใต้ชื่อพรรคใหม่ เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งของ ปชป.ในแง่ของการเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ยังมีอยู่ต่อไป

"การแข่งขันทางการเมืองจะยังคงแข่งขันกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่อยู่ดีไม่ต่างจากเดิม เพราะบทเรียนที่ผ่านมาไทยรักไทย มาถึงพลังประชาชนก็ถูกยุบพรรค จนกลายมาเป็นเพื่อไทยก็ยังทำงานการเมืองได้ต่อเนื่อง กลุ่มก้อนต่างๆ ทางการเมืองยังคงอยู่ เป็นขนาดเท่าเดิมไม่ได้ลดลง เพราะฉะนั้นในเชิงกฎหมายแล้ว การยุบพรรคการเมืองนั้นยุบได้แต่ในนาม แต่ความเป็นพรรคยังคงเดิม ยุบพรรคเดิมก็ตั้งพรรคใหม่ได้ สมาชิกก็ย้ายพรรคได้" นายสมชัย กล่าว

พร้อมให้ความเห็นว่า ถ้าเทียบเคียงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกยุบพรรคแล้ว มองว่า ปชป.น่าจะได้รับความเสียหายมากกว่ากรณีที่พรรคเพื่อไทย(พท.)ถูกยุบพรรค เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคปชป.ในปัจจุบันล้วนเป็นแกนนำที่มีความสำคัญ ไม่เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เริ่มรู้แล้วว่าการยุบพรรคเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้น พรรคที่ก่อตั้งขึ้นในภายหลัง จึงวางตัวกรรมการบริหารพรรคไม่ใช่บุคคลสำคัญระดับแกนนำ

ขณะที่ พรรค ปชป.ไม่ได้เตรียมการไว้ ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ได้เป็นพรรคที่มีอะไรปิดบังซ่อนเร้น ส่วนที่จะเป็นเพราะว่ามั่นใจว่าพรรคจะไม่ถูกยุบหรือไม่นั้น คงไม่สามารถจะตอบแทนได้ ต้องให้พรรคเป็นผู้ประเมินสถานการณ์เอง

*กรณีไม่ถูกยุบพรรค เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคขนาดกลางมีลุ้นเก้าอี้นายกฯ

ในทางกลับกัน หากกรณีพรรค ปชป.รอดจากคดียุบพรรค นายสมชัย มองว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้น พรรคการเมืองขนาดกลางก็จะเป็นตัวแปรสำคัญมากในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะหากไปอยู่กับฝ่ายใดแล้ว ฝ่ายนั้นจะมีโอกาสจะจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะหากพิจารณาจากอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคขนาดกลางแล้ว เชื่อว่าจะสามารถอยู่ได้กับทั้ง 2 ฝ่าย

"การรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในคราวหน้า พรรคขนาดกลางจะมีอำนาจในการต่อรองสูงมาก ถึงขั้นเป็นไปได้ว่าถ้าพรรคฝ่ายค้านอยากจัดตั้งรัฐบาล อาจจำเป็นต้องยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับหัวหน้าพรรคขนาดกลางก็เป็นได้" นายสมชัย กล่าว

เหตุเพราะต้องยอมรับความจริงว่า ขณะนี้พรรคฝ่ายค้านไม่มีบุคลากรที่สามารถทำให้ประชาชนยอมรับและเชื่อมั่นที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากพรรคขนาดกลางในแง่ของบุคลากรที่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนมากกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้าน เพื่อให้สามารถเข้ามาเป็นรัฐบาลได้

ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าคะแนนของพรรคฝ่ายค้านและพรรคขนาดกลางรวมกันออกมาแล้วพบว่ามีโอกาสที่จะชนะประชาธิปัตย์ก็อาจจะรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล โดยยอมยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับพรรคขนาดกลาง

*อายุรัฐบาลแขวนอยู่บนความเชื่อมั่นของประชาชน

นายสมชัย กล่าวว่า ในระหว่างนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพรรคปชป.ในฐานะที่เป็นแกนนำรัฐบาล ก็ยังคงต้องเดินหน้าบริหารประเทศต่อไป แม้ที่ผ่านมาจะถูกหลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลไม่สนใจการแก้ปัญหาให้กับประชาชนเท่าที่ควร แต่กลับให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทางการเมืองมากกว่า

รัฐบาลคงพยายามจะแก้ปัญหาของประชาชน แต่ภายใต้กลไกการทำงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้รัฐบาลทำไม่ได้ตามลำพังฝ่ายเดียว เนื่องจากหลายเหตุผล คือ 1.การบริหารงานแบบรัฐบาลผสม ซึ่งแต่ละพรรคจะยึดโยงผลประโยชน์ของตัวเองในการเข้าไปบริหารกระทรวงต่างๆ นี่คือจุดอ่อนของการทำงานแบบรัฐบาลผสม เพราะถ้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้เป็นพรรคที่มุ่งหวังว่าจะให้เกิดผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแล้ว รัฐบาลเองก็ไม่มีความสามารถอะไรที่จะไปกำกับให้เกิดผลตามที่ต้องการได้

2.ระบบราชการในปัจจุบันที่ยังล่าช้า เป็นอุปสรรคสำคัญพอสมควรในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งไม่ค่อยเห็นว่าระบบราชการจะมีบทบาททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้นโยบายต่างๆ ล่าช้าไปตามการบริหารงานในระบบราชการ สิ่งที่รัฐบาลคิดอยากจะทำในระดับนโยบายไปสู่ระดับปฏิบัติ บางครั้งอาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย เพราะต้องมีระยะเวลาผ่านกระบวนการขั้นตอนของทางราชการ

ส่วนการบริหารงานการเมืองนั้น นายสมชัย มองว่า รัฐบาลยังทำได้ไม่ดีภายใต้เงื่อนไขในปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่สามารถสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจหรือคล้อยตามกับสิ่งที่รัฐบาลคิดได้ทั้งหมด ความรู้สึกในเชิงแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นอาจทำให้เป็นความรู้สึกต่อต้านการทำงานของรัฐบาลอยู่พอสมควร

ขณะนี้อาจจะเป็นจังหวะที่รัฐบาลจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ทั้งในเชิงการผลักดันให้เกิดความสำเร็จในภาคราชการ ทั้งผลักดันให้เกิดความสำเร็จในเชิงการเมือง คงต้องรอดูว่ารัฐบาลจะทำได้ดีเพียงใดในเวลาที่เหลือ การจะอยู่ครบวาระมีโอกาสเป็นไปได้ แต่ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกยอมรับและเชื่อมั่น

"แต่ปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบวาระ เพราะรัฐบาลได้ก้าวผ่านวิกฤติทางการเมืองในระดับที่วิกฤติที่สุดไปแล้ว ดังนั้นภายใต้สภาพเงื่อนไขของสังคม ไม่มีจุดใดที่จะเป็นตัวทำให้เป็นปัญหาต่อรัฐบาล ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐบาลเองว่าจะประคองสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ และทำให้ประชาชนในประเทศเกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลได้พยายามแก้ไขเรื่องต่างๆ ให้คืบหน้าอย่างไร" นายสมชัย กล่าว

ขณะที่นายอัษฎางค์ มองว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำลายเสถียรภาพรัฐบาลให้หมดวาระลงเร็วก่อนกำหนด แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากทางกองทัพเป็นอย่างดี ก็คือปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ จะเห็นได้ว่ายิ่งนานวันปัญหาทุจริตคอรัปชั่นถูกขุดคุ้ยเปิดเผยต่อสาธารณชนตลอดเวลา ขณะที่รัฐบาลยังละเลย ไม่ให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป เพราะมัวไปสนใจแต่ปัญหาการเมือง

"รัฐบาลคิดว่าถือไพ่เหนืออยู่ จะทำอะไรก็ได้ ทำให้มีคอรัปชั่นเยอะแยะไปหมด ไม่เกรงใจประชาชนเลย...ทุกวันมีแต่เรื่องการเมือง ไม่ได้ดูเลยว่าความเดือนร้อนของประชาชนเป็นศัตรูของรัฐบาล ไม่ใช่ทักษิณ...ถ้าทำประโยชน์ให้ประชาชนได้ สิบทักษิณก็ไม่มีความหมาย"นายอัษฎางค์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

นายอัษฎางค์ มองว่า การที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)จะกลับมาเคลื่อนไหวอีกในช่วงปลายปีนี้นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งก็ต้องมีการศึกษาข้อมูลเป็นอย่างดี รวมถึงประเมินผลการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเพื่ออุดรอยรั่ว อย่างน้อยต้องใช้เวลาเป็นปี และหากมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นก็หมดเงื่อนไขที่จะออกมาเคลื่อนไหวอีก

"ถ้าม็อบกลับมาเพราะว่าบริหารห่วย ถ้าบริหารราชการแผ่นดินถูกต้อง ประชาชนได้ประโยชน์ ม็อบยังไงก็ไม่ขึ้น" นายอัษฎางค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ