"สุขุมพันธุ์"ออกแถลงการณ์ฯ ชี้แจงเอ็มโอยูปี 43 ไม่ได้ทำให้ไทยเสียหาย

ข่าวการเมือง Wednesday August 4, 2010 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนินทร์ รุ่งแสง และ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ นำแถลงการณ์ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะอดีต รมช.ต่างประเทศ ซึ่งชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ซึ่งลงนาม ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.43 มาแจกจ่ายแก่สื่อมวลชนหลังถูกอ้างว่าเป็นต้นเหตุทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหายเรื่องดินแดน

โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุว่า เอ็มโอยูปี 43 เป็นไปเพื่อเสริมสัมพันธ์ไมตรีของรัฐบาลทั้งสองที่มีเจตนารมณ์ตรงกันในเรื่องความจำเป็นที่ต้องจัดทำหลักเขตแดนทางบกขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากหลักเขตซึ่งจัดทำโดยคณะปักปันเขตแดนร่วมกรุงสยามและประเทศฝรั่งเศสได้สูญหาย ชำรุด หรือถูกเคลื่อนย้ายในช่วงเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดสงครามในกัมพูชากว่า 20 ปี การสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบกเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและในทางปฎิบัติมีอุปสรรคนานัปการในการดำเนินการ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงต้องมีความเข้าใจตรงกันก่อนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร มิฉะนั้นความขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้

วิธีดำเนินการที่ดีที่สุดคือ การดำเนินการจัดทำหนังสือสัญญาเพื่อนำไปใช้เป็นกรอบและประเด็นอ้างอิงในการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนใหม่ได้ ซึ่งหนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นข้อผูกมัดในเรื่องวิธีการดำเนินการเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อผูกมัดถึงผลของการดำเนินการ

แถลงการณ์ฯ ระบุอีกว่า ตามธรรมเนียมปฎิบัติทางการทูตลักษณะของหนังสือสัญญาที่เหมาะสมที่สุดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ คือ บันทึกลงนามความเข้าใจ(MOU) ซึ่งไทยได้ทำกับประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศก่อนหน้านี้มานานแล้ว คือ มาเลเซียและลาว ทั้งนี้ การทำบันทึกลงนามความเข้าใจทั้งสองฝ่ายเป็นฝ่ายได้ประโยชน์เพราะถ้าไม่สามารถได้ข้อสรุปในกรอบการทำงานก็ไม่สามารถเริ่มต้นการทำงานได้ ซึ่งจะมีผลทำให้ปัญหาเขตแดนเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งต่อไป

อาจกล่าวได้ว่ามาตรา 5 ของบันทึกลงนามความเข้าใจเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยด้วยซ้ำ เพราะในช่วงนั้นฝ่ายกัมพูชาเริ่มทำถนนเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งมีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อน และชาวกัมพูชาได้เข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ดังกล่าว แต่ด้วยบันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้ทำให้ฝ่ายไทยมีเครื่องประกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่ากัมพูชาจะไม่ทำถนนเข้าไปในพื้นที่ และจะดูแลไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2544 ฝ่ายกัมพูชามิได้ทำตามคำมั่นสัญญา ปล่อยให้ชาวกัมพูชาเข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ซึ่งมีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อน โดยที่รัฐบาลไทยในช่วงนั้นมิได้มีการทักท้วงแต่อย่างใดแต่ในขณะเดียวกัน ยังไม่ควรสรุปว่าบันทึกลงนามความเข้าใจไม่เป็นประโยชน์ในทางใดทั้งสิ้น

บันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้ได้เป็นกรอบสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เห็นได้จากที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้จัดการประขุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(JBC) ขึ้นถึง 3 ครั้ง โดยมีนายประชา คุณเกษม เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยทั้ง 3 ครั้ง และในช่วงที่เกิดข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ใช้บันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้เป็นเอกสารอ้างอิงในการทักท้วงทุกครั้งไป

บันทึกลงนามความเข้าใจยังไม่มีรัฐบาลของฝ่ายใดมองว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ประเทศตนเองเสียเปรียบ แม้แต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้นำบันทึกลงนามความเข้าใจไปใช้ ซึ่งหากบันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้สร้างความเสียหายแก่ฝ่ายไทยจริง ก็คงได้มีการวิพากษ์วิจารณ์มาก่อนหน้านี้แล้วและอาจได้มีการดำเนินการแก้ไขเนื้อหาไปอีกด้วย โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำได้ดำเนินการไปอย่างไม่ถูกต้อง

ผลของการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตามบันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นพ้องต้องกันในทุกประเด็น ดังนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถยอมรับในประเด็นใดๆ ก็ตามสามารถชะลอการพิจารณาไปก่อนได้ เพราะไม่มีอำนาจใดบังคับให้เกิดการยอมรับในสิ่งที่ไม่ต้องการได้ ยิ่งไปกว่านั้นผลสรุปของ JBC ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเพราะจะต้องได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาอีกด้วย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าบันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้เป็นเครื่องประกันไม่ให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนในพื้นที่มีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อนกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ