คะแนนนิยมโอบามาในโลกอาหรับร่วงหนัก เหตุปชช.ผิดหวังการแก้ปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ข่าวต่างประเทศ Friday August 6, 2010 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลสำรวจชี้คะแนนนิยมของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ในกลุ่มประเทศอาหรับร่วงลงอย่างรุนแรงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

รายการศึกษาในหัวข้อ "The View from the Middle East: The 2010 Public Opinion Poll" ระบุว่า ทัศนคติของชาวอาหรับที่มีต่อนายโอบามาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยคะแนนความไม่เห็นชอบในนโยบายต่างประเทศของโอบามาทะยานขึ้นจากระดับ 23% ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 62% ในปีนี้

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์/ซอคบี้ ชี้ว่า ประชาชนรู้สึกผิดหวังในการแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในโลกอาหรับ และนับเป็นประเด็นที่มีอิทธิพลต่อคะแนนนิยมในตัวโอบามา ขณะที่ประเด็นเรื่องอัฟกานิสถานก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ

ชิบลีย์ เทลฮามี ผู้เชี่ยวชาญอดีตที่ปรึกษาด้านภารกิจของสหรัฐในสหประชาชาติกล่าวว่า "เห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของชาวอาหรับที่มีต่อโอบามานั้นมีสาเหตุจากความผิดหวังเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางของปัญหาที่ทำให้ชาวอาหรับมีมุมมองต่างๆ ต่อผู้นำสหรัฐ"

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นผ่านการสอบถามความเห็นของประชาชนเกือบ 4,000 คนในอียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย โมรอคโค จอร์แดน เลบานอน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน ถึง 20 กรกฎาคมในปีนี้

โดย 61% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลเป็นประเด็นที่สร้างความผิดหวังให้กับพวกเขาอย่างมาก รองลงมา 27% เป็นประเด็นอิรัก ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาประชาชนต่างขานรับในตัวผู้นำสหรัฐที่ให้คำมั่นว่าจะถอนกำลังทหารสหรัฐออกจากอิรัก ขณะที่ชาวอเมริกันเองก็เห็นว่าโอบามาเป็นผู้จุดประกายความหวังว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับโลกอาหรับจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกันผลสำรวจในปีที่แล้วพบว่า กว่า 50% ของผู้ที่ทำการสำรวจยังมีความหวังต่อนโยบายในตะวันออกกลางของสหรัฐ ซึ่งในปีนี้สัดส่วนของผู้มีความเห็นดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 15% ขณะที่ 63% รู้สึกหมดหวังกับนโยบายของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม 20% ให้ความเห็นว่า นโยบายของสหรัฐในกลุ่มประเทศอาหรับเป็นนโยบายที่น่าชื่นชมมากที่สุด ขณะที่ 13% มีความเห็นในแง่บวกต่อนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ