นายกฯยืนยันไม่ยกเลิก MOUปี43 ใช้วิธีการฑูตและทหารผลักดันเขมรออกพื้นที่

ข่าวการเมือง Sunday August 8, 2010 13:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าข้อกังวลว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี 2543 หรือเอ็มโอยู 2543 ไปยอมรับแผนที่ของกัมพูชาและจะทำให้ไทยเสียดินแดนนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวยืนยันว่า เอ็มโอยูปี 2543 ไม่ได้ไปยอมรับแผนที่ดังกล่าว แต่ทำขึ้นมาเพื่อต้องการให้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน โดยระหว่างนั้นยังห้ามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปครอบครองหรือทำอะไรในพื้นที่พิพาทเพิ่มเติม และเมื่อจัดทำหลักเขตแดนแล้ว ยังต้องมาดูอีกทีว่า เราจะยอมรับเขตแดนดังกล่าวหรือไม่ เพราะต้องรายงานต่อรัฐสภาด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การที่มีเอ็มโอยู 2543 มีข้อดีตรงที่ได้ห้ามฝ่ายไหนรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่พิพาท หากใครเข้าไปก็สามารถประท้วงได้ นอกจากนี้ เอ็มโอยูปี 2543 ยังสามารถระงับไม่ให้กัมพูชาส่งแผนที่ต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ เพราะยังปักปันเขตแดนไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้ทางฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกก็ยอมรับว่า กัมพูชายังไม่สามารถส่งแผนที่ได้

"ผมไม่ยกเลิก เพราะมีประโยชน์ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนที่บอกว่าจะถอนตัวจากภาคีมรดกโลก ไม่ต้องห่วงรัฐบาลจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่มีชาวกัมพูชาเข้าไปอาศัยในพื้นที่พิพาทนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีการใช้วิธีทั้งการทูตและการทหาร โดยส่วนใหญ่ใช้วิธีการประท้วงหรือเจรจา แต่บางครั้งก็ถึงขั้นเกิดการปะทะ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ละเลยและพยายามรักษาสิทธิ ซึ่งเวลาเกิดข้อโต้แย้งกันขึ้น ไม่มีใครที่เริ่มต้นด้วยการใช้กำลัง ต้องใช้วิธีการอื่นก่อน เพราะหากใจร้อน ผลีผลาม หรือพลาดขึ้นมา จะเสียใจภายหลัง

"เรื่องการรุกล้ำนั้นมาร่วม 10 ปี ซึ่งเราประท้วงแล้วยังไง แต่การประท้วงก็ต้องทำ เป็นไปตามข้อกฎหมาย เราไม่อยากให้มีการกระทบกระทั่งกัน แต่ถ้ามีความจำเป็น ตรงนี้เราพยายามแสดงสิทธิอยู่"

นายอภิสิทธิ์กล่าว ระหว่างการจัดรายการพิเศษเพื่อชี้แจงกรณีเขาพระวิหารและเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 โดยร่วมพูดคุย ระหว่างฝ่ายรัฐบาล และ ภาคประชาชน ซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชม.ช่วงเวลา 11 -13 น.

การร่วมหารือทางฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วยนายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชวนนท์ อินทรโกมารสุต เลขาณุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

ส่วนภาคประชาชนประกอบด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสมปอง สุจริตกุล อดีตทนายความคดีปราสาทพระวิหาร นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ และนายวีระ สมความคิด แกนนำ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทยหัวใจรักชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ