(เพิ่มเติม) นายกฯยืนยันไม่ยกเลิก MOU ปี43 / เชื่อภาครัฐ-ภาคปชช.เห็นตรงกัน

ข่าวการเมือง Sunday August 8, 2010 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าข้อกังวลว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี 2543 หรือเอ็มโอยู 2543 ไปยอมรับแผนที่ของกัมพูชาและจะทำให้ไทยเสียดินแดนนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวยืนยันว่า เอ็มโอยูปี 2543 ไม่ได้ไปยอมรับแผนที่ดังกล่าว แต่ทำขึ้นมาเพื่อต้องการให้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน โดยระหว่างนั้นยังห้ามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปครอบครองหรือทำอะไรในพื้นที่พิพาทเพิ่มเติม และเมื่อจัดทำหลักเขตแดนแล้ว ยังต้องมาดูอีกทีว่า เราจะยอมรับเขตแดนดังกล่าวหรือไม่ เพราะต้องรายงานต่อรัฐสภาด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การที่มีเอ็มโอยู 2543 มีข้อดีตรงที่ได้ห้ามฝ่ายไหนรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่พิพาท หากใครเข้าไปก็สามารถประท้วงได้ นอกจากนี้ เอ็มโอยูปี 2543 ยังสามารถระงับไม่ให้กัมพูชาส่งแผนที่ต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ เพราะยังปักปันเขตแดนไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้ทางฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกก็ยอมรับว่า กัมพูชายังไม่สามารถส่งแผนที่ได้

"ผมไม่ยกเลิก เพราะมีประโยชน์ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนที่บอกว่าจะถอนตัวจากภาคีมรดกโลก ไม่ต้องห่วงรัฐบาลจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ในวันนี้ได้จัดรายการพิเศษเพื่อชี้แจงกรณีเขาพระวิหารและเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 โดยร่วมพูดคุย ระหว่างฝ่ายรัฐบาล และ ภาคประชาชน ซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชม.ช่วงเวลา 11 -13 น.

การร่วมหารือทางฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วยนายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชวนนท์ อินทรโกมารสุต เลขาณุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

ส่วนภาคประชาชนประกอบด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสมปอง สุจริตกุล อดีตทนายความคดีปราสาทพระวิหาร นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ และนายวีระ สมความคิด แกนนำ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทยหัวใจรักชาติ

*เชื่อภาคประชาชนเห็นตรงกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชันวิสัยทัศน์ร่วมกับภาคประชาชน กรณีปราสาทพระวิหารว่า เชื่อว่าครั้งนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างภาครัฐ และประชาชนในหลายเรื่อง และยินดีปรับ แก้ไขรายละเอียดในบางส่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศ พร้อมยกพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง ความสามัคคี ที่เน้นให้เห็นถึงประโยชน์ของประเทศ และเตรียมดึงภาคประชาชนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการดูแลปัญหาข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ชุดที่มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ ประธาน เพื่อเตรียมข้อมูลต่อสู้กับคณะกรรมการมรดกโลกชุดใหญ่

ส่วนกรณีที่มีชาวกัมพูชาเข้าไปอาศัยในพื้นที่พิพาทนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีการใช้วิธีทั้งการทูตและการทหาร โดยส่วนใหญ่ใช้วิธีการประท้วงหรือเจรจา แต่บางครั้งก็ถึงขั้นเกิดการปะทะ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ละเลยและพยายามรักษาสิทธิ ซึ่งเวลาเกิดข้อโต้แย้งกันขึ้น ไม่มีใครที่เริ่มต้นด้วยการใช้กำลัง ต้องใช้วิธีการอื่นก่อน เพราะหากใจร้อน ผลีผลาม หรือพลาดขึ้นมา จะเสียใจภายหลัง

"เรื่องการรุกล้ำนั้นมาร่วม 10 ปี ซึ่งเราประท้วงแล้วยังไง แต่การประท้วงก็ต้องทำ เป็นไปตามข้อกฎหมาย เราไม่อยากให้มีการกระทบกระทั่งกัน แต่ถ้ามีความจำเป็น ตรงนี้เราพยายามแสดงสิทธิอยู่"

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า MOU เป็นประโยชน์ในกรณีที่คนอื่น หมายถึงประเทศที่ 3 องค์กรระหว่างประเทศ ต่างๆ เข้ามาดู เวลาจะเริ่มปลักดันเขาออกไป ดราจะมีความชอบธรรม ถ้าไม่มี MOU ปี 43 ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิตัวเอง ไทยเราก็ยึดแนวสันปันน้ำ ส่วนทางกัมพูชาก็อาจจะอ้างคำพิพากษาศาลโลก รวมถึงแผนที่ต่างๆ

ไทยต้องใช้การฑูตกับการทหารผสมผสาน โดยได้ให้นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ประสานงานกับรมว.กลาโหม และกองทัพบก โดยการใช้กำลังควรเป็นทางเลือกสุดท้าย และถ้าจะใช้กำลังต้องมั่นใจกับผลกระทบที่จะตามมา กับผลกระทบระหว่างการเมืองระหว่างประเทศ

ด้านนายวีระ กล่าวว่าการที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า MOU ปี 43 เป็นประโยชน์ แต่นายกฯก็ยอมรับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นของไทย โดยยึดตามหลักแนวสันปันน้ำ ขณะที่คนกัมพูชาเข้ามาร่วม 10 ปี หรือหลัง MOU ปี 43 แสดงว่าเขาไม่ได้เห็นเหมือนไทย จากเมื่อก่อนไม่เคยเข้ามา ซึ่งเราไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย คนไทยทั้งประเทศกังวลกับเรื่องนี้มากที่สุด

"10 กว่าปีมาแล้ว และผมเชื่อว่ายังไงเขาก็ไม่ออก เมื่อเขายึดครองแล้ว รัฐบาลจะจัดการยังไง ที่นายกฯบอกจะเอาการฑูต กับการทหาร "นายวีระ กล่าว

อย่างไรก็ตีนายชวนนท์ กล่าวแก้ต่างว่า การมี MOU ปี 43 ไม่ใช่เป็นการเปิดทางให้คนกัมพูชาเข้ามา

*ตั้งข้อสังเกตุไทยเสียพท. 50 ไร่ให้กัมพูชา

นายเทพมนตรี ตั้งข้อสังเกตว่า มติครม.ปีพ.ศ. 2505 ได้กั้นรั้วทิศเหนือและตะวันตกของปราสาท โดยรั้วนั้นไม่ใช่เส้นเขตแดน ซึ่งต่อมาในยุคปัจจุบัน แผนที่ตรงนี้คือแผนที่ แอล 7017 ที่ฝ่ายไทยยึด แต่ในสมัยรัฐบาลที่แล้วที่นายนพดล ปัทมะ เป็นรมว.ต่างประเทศ ปี 51 มติกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ที่ควิเบก แคนาดา ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทำให้ไทยเสียพื้นที่โดยรอบปราสาทไปแล้วในเบื้องต้น 50 ไร่

นอกจากนี้ นายเทพมนตรี ได้นำเอกสารกระทรวงต่างประเทศ วันที่ 20 มิถุนายน 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ลงนามโดยอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ที่ชี้แจงถึงราชเลขาธิการมาแสดง โดยระบุว่า ในเอกสารฉบับนี้มีแผนผังและมีคำชี้แจงว่า ไม่สามารถเอาพื้นที่รอบปราสาทดังกล่าวคืนมาได้แล้ว จุดนี้ทำกัมพูชาเข้าใจว่า ไทยยอมรับแล้ว

ขณะที่ นายสุวิทย์ ชี้แจงว่า กล่าวว่า ตอนนั้นฝ่ายไทยทำเรื่องคัดค้านไว้ที่ควิเบกว่า การขึ้นทะเบียนไม่ชอบ เพราะการเสนอไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีขอบเขต คราวนี้ครั้งที่ 34 ที่บราซิลฝ่ายไทยก็ทำเรื่องคัดค้าน เพราะความไม่ชัดเจนเรื่องเขตแดน โดยยกกรณีเยรูซาเล็มที่ขึ้นทะเบียนทั้งที่ขอบเขตไม่ชัดจึงมีปัญหา ซึ่งการที่กรรมการมรดกโลกให้กัมพูชาเสนอรายละเอียดของขอบเขตแผนที่ให้ชัดเจนอีกครั้ง นี่แสดงว่า แผนที่ยังไม่ชัด แล้วดันทุรังขึ้นทะเบียนไป ดังนั้น 50ไร่รอบปราสาทนั้น คือฝ่ายไทยส่งหนังสือทักท้วงว่า ไม่ได้ยอมรับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ