โฆษกรัฐบาลเผยไทยเตรียมแจงยูเอ็นกรณีความขัดแย้งปราสาทพระวิหาร 3 ประเด็น

ข่าวการเมือง Monday August 9, 2010 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยกระทรวงการต่างประเทศเตรียมทำหนังสือชี้แจงต่อประธานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ(ยูเอ็น) และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นใน 3 ประเด็นกรณีสมเด็จฮุเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาทำหนังสือประท้วงท่าทีของไทยต่อปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร

"สำหรับเนื้อหาหนังสือชี้แจงที่เราเตรียมจะทำถึงสหประชาชาตินั้นมี 3 ส่วน ส่วนแรกเรื่องข้อกฎหมายที่กัมพูชาตั้งข้อสังเกต ส่วนที่ 2 คือกรณีที่เราถูกบุกรุกพื้นที่ และส่วนที่ 3 คือการที่เรายืนยันว่าจะดำเนินการทุกอย่างตามหลักสันติวิธีและข้อกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับ" นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

โดยขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังร่วมประชุมหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระหว่างประเทศและอีกหลายคณะ คาดว่าคงจะได้นำผลสรุปรายงานให้กับนายกรัฐมนตรีได้รับทราบในช่วงเช้าวันนี้ อย่างไรก็ตามจุดยืนของไทยไม่เปลี่ยนแปลงที่ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน

"ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการที่จะคงความตกลงต่างๆ ไว้ ซึ่งนายกฯ พูดชัดเจนว่าเราจะคงประโยชน์เหล่านี้ไว้" นายปณิธาน กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื้อหาในหนังสือที่สมเด็นฮุนเซ็นส่งถึงมีเนื้อหาในทำนองเดียวกันว่า ถ้าเห็นว่าเป็น ประโยชน์ก็ยังสามารถร่วมมือกันได้ แต่ในส่วนที่เป็นปัญหาเราก็ต้องบริหารจัดการในพื้นที่ โดยเราจะดำเนินการชี้แจงว่ามีการรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของเราอย่างไร และตรงนี้จะเป็นโอกาสดีที่ทำให้นานาชาติสนใจว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีปัญหาจริงๆ การดำเนินการต่อไปต้องมีการพูดคุยกันเพราะไทยยึดหลักสันติวิธีชัดเจน และที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเตือนสติก็ชัดเจนว่า ไทยเราจะแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และต้องการเป็นเพื่อนที่ดีของประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันเราก็ปกป้องผลประโยชน์ของไทย

ส่วนมุมมองของต่างชาติกรณีที่กัมพูชาอ้างว่าไทยละเมิดคำตัดสินของศาลโลกนั้น นายปณิธาน กล่าวว่า คงต้องชี้แจงเพิ่มเติม เพราะตั้งแต่มีมติของศาลโลกก็คิดว่านานาชาติก็รับทราบว่าไทยเคารพมติแต่เราก็สงวนสิทธิ์ และเราก็คิดว่ามตินั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ ยกเว้นเรื่องตัวปราสาท ดังนั้นอีก 1 ปีจึงเป็นโอกาสที่เราจะได้ชี้แจงว่าจะมีคณะทำงานต่างๆ ภาคประชาชนจะเข้ามาทำงานร่วมกันในการชี้แจง ทั้งนี้อาจจะมีนานาชาติบางส่วนยังไม่รับทราบข้อมูลส่วนนี้ก็เป็นโอกาสดี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่กัมพูชาดึงเอาชาติที่ 3 เข้ามาร่วมแก้ปัญหาว่า หลายประเทศคงเป็นกังวลเหมือนกับเราว่าสถานการณ์ตามแนวชายแดนขณะนี้ยังมีปัญหา และในอดีตหลายประเทศที่เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดี โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจที่มีประสบการณ์ในเรื่องของการใช้กำลัง การใช้ความรุนแรงก็เป็นกังวล โดยไทยก็ยืนยันไปว่าเราเป็นประเทศที่รักสันติมาโดยตลอด ยึดหลักการพูดคุยเจรจา แต่เราจะชี้แจงว่าพื้นที่ที่เป็นของเรามีการรุกล้ำ ขัดกับการตกลงและเอ็มโอยูด้วย ที่จะต้องทำให้เราหาทางแก้ไขต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จริงๆ แล้วปัญหาชายแดนก็สามารถตกลงกันได้ด้วยกรอบที่มีอยู่ในระดับทวิภาคี แต่เราก็รับความเป็นกังวลของนานาประเทศ แต่โดยหลักแล้วสองประเทศจะตกลงกันเอง และคิดว่านานาชาติจะเคารพตรงนี้ เข้าใจว่าองค์การสหประชาชาติก็คงจะมีการให้ความเห็นบ้างแต่ก็เป็นเรื่องปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ