ส.ว.ติงรัฐบาลปรับวิธีใช้สื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์กรณีปราสาทพระวิหาร

ข่าวการเมือง Monday August 9, 2010 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) แนะรัฐบาลปรับวิธีการใช้สื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากทางการกัมพูชาทำหนังสือร้องเรียนสหประชาชาติ(ยูเอ็น) กล่าวหาถูกไทยคุกคามกรณีพิพาทเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร หลังติดตามการถ่ายทอดสดการดีเบตร่วมกันของรัฐบาลกับภาคีเครื่อข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ

"การใช้สื่อควรใช้เฉพาะบางเรื่อง ไม่ใช่ทุกเรื่อง อะไรที่ตกลงกันได้แล้วค่อยไปออกสื่อ ส่วนสื่อวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในประเทศต้องใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อไม่ให้คนไทยมีความเห็นขัดแย้งกัน"นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวในที่ประชุมฯ

นายสมชาย กล่าวว่า การที่ภาคีเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติได้หารือกับรัฐบาลเรื่องขอเรียกร้องให้ยกเลิกบันทึกข้อตกลงการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา พ.ศ.2543 นั้น ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่มีการจับเข่าคุยกันระหว่างคนไทยที่มีความเห็นแตกต่างกันแต่มีความรักชาติเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรีให้เร่งดำเนินการเรื่องนี้ โดยตั้งคณะทำงานที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเพื่อทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่างอย่างจริงจังเช่นเดียวกับการต่อสู้เมื่อปี พ.ศ.2505

นายสมชาย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการปรับปรุงคือ การดำเนินการด้านการทูต ส่วนด้านความมั่นคงนั้นจะต้องดำเนินการผลักดันให้ทางการกัมพูชาสั่งถอนกำลังทหารและพลเรือนออกไปจากพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กรณีดังกล่าวรัฐบาลควรเร่งดำเนินการ 3 ทาง คือ เร่งดำเนินการยกเลิกบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู)การปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา พ.ศ.2543 ในทันที เพราะไม่มีความหมาย เนื่องจากกัมพูชาทำความผิดอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

รวมถึงรัฐบาลได้ดำเนินการให้บังคับใช้เอ็มโอยูด้วยการเจรจาโดยสันติ ซึ่งกระทำไปถึง 7 ครั้งแต่ไม่ได้ผล การกระทำผิดยังคงเพิ่มมากขึ้น, รักษาอธิปไตยของชาติด้วยการรักษาพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารโดยใช้ทุกวิธีการที่จำเป็น และรัฐบาลต้องเร่งขออนุมัติกรอบการเจรจาจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เพื่อเจรจากับกัมพูชาในการจัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ที่มีสาระสำคัญในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกโดยยึดสันปันน้ำตามอนุสัญญาปี 1904 และอนุสัญญาพิธีสาร 1907 เท่านั้นโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยพิสูจน์ทราบในพื้นที่จริง

นายคำนูณ กล่าวว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะยืนยันว่าเอ็มโอยู 2543 ไม่ได้หมายความถึงแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 และอ้างเอกสารลับที่ส่งไปยังกัมพูชาก็ถือเป็นการอ้างโดยฝ่ายไทยเพียงฝ่ายเดียวทางกัมพูชาไม่ได้ยอมรับด้วย จึงเห็นว่าจำเป็นควรดำเนินการตามข้อเสนอทั้ง 3 ข้อที่เสนอข้าง

"การนำบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี แนบร่างข้อตกลงชั่วคราวที่อิงกับมติรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 เข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้(10ส.ค.) จะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งขึ้นไปอีก" นายคำนูณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ