อดีต รมว.ต่างประเทศ ออกมาแถลงข่าวตอบโต้นักวิชาการอิสระของภาคีเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติและโฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กรณีกล่าวหาการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียดินแดน
"ต้องขอบคุณนายกฯ ที่ช่วยยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่เสียดินแดนให้กัมพูชา เพราะเรายังประท้วงและอ้างสิทธิ แต่นายเทพมนตรี ลิมปพยอม ตัวแทนจากกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มาร่วมดีเบตด้วยนั้นกลับกล่าวหาผมว่าการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.2008 ทำให้ไทยเสียพื้นที่ไปแล้ว 50 ไร่ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่" นายนพดล ปัทมะ อดต รมว.ต่างประเทศ กล่าว
เนื่องจากมติคณะกรรมการมรดกโลกเกิดในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ดำเนินการเอาไว้เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่เมืองไคร์ซเชิร์ท ประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้การประชุมฯ ในปี ค.ศ.2008 ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ไทยต้องเจรจาขอให้ตัดพื้นที่ทับซ้อนออกจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่ไม่ได้สนับสนุน มีเพียงกลุ่มพันธมิตรฯ กับคนในพรรคประชาธิปัตย์บางคนเท่านั้นที่ยังไม่เข้าใจ
"โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กลับพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย พูดไปเรื่อย ก่อนหน้านี้บอกว่า นายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกนำไปขึ้นทะเบียน แต่ล่าสุดบอกที่เลื่อนไปเพราะแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นโมฆะ ส่วนตัวไม่อยากตอบโต้อะไร ขอแค่ให้อยู่กับร่องกับรอยเท่านั้น เพราะนำมาพูดแล้วเกิดความเสียหาย นายกฯต้องรีบตักเตือน ข้อเท็จจริงคือแถลงการณ์ร่วมฯ สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่ผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศไม่ได้เป็นเหตุให้กัมพูชานำไปขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นการปกป้องดินแดน" นายนพดล กล่าว
อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า จากการดีเบตในประเด็นเส้นเขตแดน รู้สึกแปลกใจกับท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่เคยบอกว่ายึดถือแผนที่ L7107 ของกรมแผนที่ทหาร โดยให้ตัดตัวปราสาทพระวิหารออกไป เนื่องจากศาลโลกได้ตัดสินให้เป็นของประเทศกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 แต่ล่าสุดมาเปลี่ยนท่าทีคล้ายกับจะเอาใจกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าจะยึดแนวสันปันน้ำ ทั้งที่ในเอกสารแผนที่ L7107 ระบุให้เป็นแผนที่แนบพระราชกฤษฎีกาตามที่นายกอภิสิทธิ์เคยเป็นผู้อนุมัติ
หากนายอภิสิทธิ์จะอ้างเส้นพรมแดนว่าเป็นสันปันน้ำ ก็อยากเรียกร้องให้ใช้อำนาจปกครองไปตั้งกรมตรวจคนเข้าเมืองที่สันปันน้ำ และนายอภิสิทธิ์ต้องแจ้งไปยังหน่วยราชการ หน่วยงานทางทหารทั้งหมดว่านับแต่นี้ไปประเทศไทยจะไม่ใช้แผนที่ L7107 แต่จะใช้แนวสันปันน้ำแทน และนายอภิสิทธิ์ต้องเจรจาเอาที่ดินรอบปราสาทที่ไปตัดก่อนหน้านี้ เอากลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศไทย เพราะถ้ามีสถานะกฎหมายอย่างไรต้องทำอย่างนั้น ไม่ใช่แค่พูดอย่างเดียว เมื่อนายอภิสิทธิ์คิดว่าใช้สันปันน้ำทั้งหมดก็ไปเจรจาเอาเขตแดนเราคืน
ส่วนกรณีนักวิชาการบางคนมีความเป็นห่วงว่าขณะนี้ประเทศกัมพูชา ถือไพ่เหนือกว่าเรา หลังจากยื่นหนังสือไปที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ ถ้าเขาเอาไปให้ศาลโลกตัดสินอีกครั้ง คิดว่ามันจะไปกันใหญ่ สุ่มเสี่ยงที่ศาลโลกจะบอกว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามที่เคยตัดสิน พรรคฝ่ายค้านและคนทุกสีพร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาล ขอให้ประกาศเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ
"ขอยื่นช่อดอกกุหลาบให้ ซึ่งเราไม่เคยได้รับอย่างนี้ สมัยยังเป็นรัฐบาลกลับโดนกลุ่มพันธมิตรฯ และฝ่ายค้านขณะนั้นรุมกระทืบอย่างเดียว และขอให้นายกฯ เจรจาปักปันเขตแดนให้เสร็จที่ประเทศบาห์เรน พวกเราไม่ได้รักชาติน้อยกว่าพวกท่าน แต่ความสัมพันธ์มันเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ" นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่เชื่อว่าป็นเพราะเอ็มโอยูปี 43 สมัยที่มีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็น รมว.ต่างประเทศ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัฒน์ เป็น รมช.ต่างประเทศ จะทำให้ไทยเสียดินแดน แต่รู้สึกแปลกใจว่าทำไมยอมให้กัมพูชายึดเอาแผนที่ 1:200000 เป็นแนวทางปักปันเขตแดน ขณะที่สมัยรัฐบาลสมัครก็ไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดน เพราะไม่มีผลประโชน์ทับซ้อนอย่างการกล่าวหาเอาพื้นที่ไปแลกกับสัมปทานแก๊ส ซึ่งก็ไม่มีเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การจะยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าวหรือไม่นั้นไม่ใช่สาระสำคัญ แต่รัฐบาลต้องไปปกป้องพื้นที่ไม่ให้ขยายชุมชนมากขึ้น ไปเจรจาเอาพื้นที่รอบตัวปราสาทคืนมา
"อย่าดีแต่พูด อย่าให้รัฐบาลหน้าต้องมาทำ แต่วันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าหรือภาษาชาวบ้านบอกว่า ไม่มีประสิทธิภาพ" นายนพดล กล่าว
ส่วนการทำหน้าที่ รมว.ต่างประเทศ ของนายกษิต ภิรมย์นั้น นายนพดล กล่าวว่า ท่าทีของ รมว.ต่างประเทศ มีชัดเจนว่าไม่สามารถทำงานร่วมกับกัมพูชาได้ ทำให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องไปเจรจาแทน เช่นเดียวกับการออกรายการยังนำนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ มาแทน
"อันที่จริงก็สลับกันได้ เอาเลขาฯมาเป็น รมว.ต่างประเทศ แทนไปเลย ท่าทีที่เราประท้วงอย่างเดียวยังไม่พอ แต่ว่าต้องให้กัมพูชาไปถอนด้วย รมว.ต่างประเทศ อยู่ที่ไหน สมัยเราเป็นรัฐบาลก็ทำดีแล้ว ทุกรัฐบาลไมมีใครทำให้เสียดินแดน"นายนพดล กล่าว