ภาคีเครือข่ายประชาชนออกแถลงการณ์รุกคืบรัฐบาลให้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาข้อพิพาทกับกัมพูชากรณีปราสาทพระวิหารหลังประชุมร่วมกันแล้ว โดยเรียกร้องให้ยกเลิกบันทึกความตกลง(เอ็มโอยู) ปี 43 พร้อมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศออกมากล่าวคำขอโทษต่อประชาชนที่ให้ข้อมูลผิดพลาด
"เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงอำนาจอธิปไตยของไทยในพื้นที่ซึ่งถูกรุกล้ำ นอกเหนือจากมาตรการทางการทูตและการทหาร เช่น การทำหน้าที่ของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, การทำหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย, การจัดเก็บภาษีต่างๆ ของกระทรวงการคลัง ตลอดจนใช้กำลังทหารในการผลักดัน เพื่อปกป้องรักษาดินแดนและอธิปไตยของไทย" นายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าว
โดยแถลงการณ์ ระบุว่า เราขอบันทึกเป็นหลักฐานเอาไว้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยอมรับและยืนยันว่าไทยยึดหลักสันปันน้ำตามทิวเขาดงรักอย่างเคร่งครัด ยืนยันว่าปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาว่าตั้งอยู่บนพื้นที่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และไทยได้โต้แย้งและสงวนสิทธิ์เอาไว้แล้วตามหนังสือกระทรวงการต่างประเทศลงวันที่ 6 ก.ค.05 ดังนั้นฝ่ายไทยจึงยังถือว่าพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้นอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทย
"(นายกรัฐมนตรี)ยอมรับว่าฝ่ายกัมพูชาได้รุกล้ำและยึดครองดินแดนไทยในบริเวณพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นความจริง ยืนยันว่าไทยจะไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ(ICC)ที่จะทำหน้าที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืนที่ตัวปราสาทในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ยืนยันว่าจะคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชาเป็นมรดกโลกต่อไปอย่างต่อเนื่อง และคัดค้านแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบตัวปราสาทเป็นมรดกโลกด้วย" แถลงการณ์ ระบุ
นายปานเทพ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่าในช่วงที่เป็นฝ่ายค้านได้ขอให้มีการถอนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนซึ่งเป็นเอกสารประกอบการเจรจาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ต.ค.51 ยืนยันว่ายูเนสโกได้ละเมิดอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ตามธรรมนูญของยูเนสโก ข้อ 1 วรรค 3 ที่ห้ามมิให้ยูเนสโกแทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิก
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่าเอกสารและการดำเนินการที่ผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชาจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนอีกครั้งก่อนขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เช่น พิจารณาเห็นชอบหรือรับรองรายงานการประชุมลับของรัฐสภาเรื่องกรอบการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 28 ต.ค.51, ร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร
กรณีที่นายกรัฐมนตรีอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรณีพิพาทเนิน 491 ระหว่างไทย-พม่า และกรณีของไทย-กัมพูชา นั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่บังควรที่จะนำพระราชดำรัสฯ ในต่างกรรมต่างวาระมากล่าวสรุปปิดท้ายรายการ โดยมีความประสงค์ที่จะกลบเกลื่อนเพื่อเบี่ยงเบนปัญหาที่มีอยู่จริง เพราะกรณีเนิน 491 นั้นยังไม่มีความชัดเจนในการครอบครองซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ปราสาทพระวิหารที่มีเขตแดนชัดเจนอยู่แล้ว และกรณีไทย-กัมพูชาขณะนั้นก็มีความแตกต่างจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ฝ่ายกัมพูชามีเป้าหมายในการรุกล้ำและเข้ามายึดครองดินแดน
เราขอยืนยันว่าคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศสได้มีมติให้ยึดหลักสันปันน้ำตามสนธิสัญญาแล้ว ดังนั้นเขาพระวิหารอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารจึงไม่จำเป็นต้องปักปันเขตแดนใหม่ แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงผู้เดียวนั้นเป็นแผนที่ที่ผิดพลาด ไม่สามารถนำมาใช้ได้ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่เคยพิพากษาเรื่องแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่ดังกล่าว จึงไม่ควรกำหนดแผนที่ดังกล่าวไว้ในเอ็มโอยูปี 43
การที่กระทรวงการต่างประเทศได้ยื่นหนังสือแจ้งไปยังรัฐบาลกัมพูชาเมื่อปี 51 ว่าฝ่ายไทยไม่ยึดถือแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน เพราะถือว่าไม่ใช่การดำเนินการโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยเอกสารดังกล่าว แจ้งไปยังประชาชนให้รับทราบ
นอกจากนี้ความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศในยุคปัจจุบันยังมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก และขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ เข้าใจผิดว่าการยึดแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนนั้นมีความสำคัญมากกว่าข้อบทแห่งสนธิสัญญาเพราะแผนที่เกิดขึ้นภายหลัง, เข้าใจว่าแผนที่เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส, เข้าใจผิดว่าแผนที่เป็นผลของการปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ทั้งนี้ยังเข้าใจคำพากษาของศาลโลกไม่ถูกต้องว่าได้พิจารณายอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ถือเป็นอันตรายโดยเฉพาะถ้าไทยยังคงใช้เอ็มโอยูปี 43
"ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยการออกมากล่าวคำขอโทษต่อประชาชนในการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จและเป็นข้อกฎหมายที่ผิดพลาด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา" แถลงการณ์ฯ ระบุ
แถลงการณ์ฯ ระบุอีกว่า เอ็มโอยูปี 43 ถือเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 224
นายกรัฐมนตรียืนยันว่าในช่วงที่เป็นฝ่ายค้านได้ขอให้มีการถอนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งเป็นเอกสารกรอบการเจรจาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ต.ค.51,
นายกรัฐมนตรีอ้างว่าได้มีการประท้วงเพื่อให้รู้ว่ากัมพูชาละเมิดเอ็มโอยูปี 43 ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง จึงเป็นเหตุสมควรที่จะยกเลิกเอ็มโอยูปี 43 ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญาปี ค.ศ.1969 ได้ทันที ซึ่งภาคีเครือข่ายประชาชน ยืนยันว่า หากยกเลิกเอ็มโอยูปี 43 แล้ว ไทยไม่ได้เสียผลประโยชน์แต่อย่างใด
ขอให้รัฐบาลทำการประท้วงนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา กรณีที่ประกาศว่ากัมพูชาได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่จากการที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามในร่างมติประนีประนอมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 43 เมื่อวันที่ 29 ก.ค.53 ซึ่งจะกลายเป็นมติมรดกโลกต่อไป
และคำแถลงของสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ 8-9 ส.ค.53 ว่าพร้อมที่จะนองเลือด ย่อมแสดงว่ามีความขัดแย้งเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ จึงขอให้รัฐบาลประท้วงโดยการทำหนังสือไปยังองค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการมรดกโลก และยูเนสโก ว่าในกรณีนี้กัมพูชาเป็นผู้รุกล้ำอธิปไตยก่อน
นายสมปอง สุจริตกุล กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง และไม่ควรให้ประเทศหนึ่งประเทศใดใช้องค์การยูเนสโกเป็นเครื่องมือในการที่จะขยายความขัดแย้งนี้ต่อไป เพราะธรรมนูญของยูเนสโกเองก็ระบุว่าต้องเสริมสร้างความเข้าใจอันดี สมานฉันท์ แต่ยูเนสโกกลับไปทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ส่วนตัวคิดว่าขั้นต่อไปนั้นเราควรทำอย่างไรกับยูเนสโก เพื่อให้เห็นว่าเราจะยอมให้ยูเนสโกปฏิบัติการอยู่ในประเทศไทยได้อีกหรือไม่
ด้าน นายวีระ สมความคิด กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีท่าทีที่จัดเจนว่าจะดำเนินการผลักดันชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่อย่างไร ตนเองไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมา เพราะเราใช้การทูตมามากแล้วแต่ไม่มีผลเลย หากปล่อยเวลานานเกินไป การที่จะทวงดินแดนคืนก็เป็นไปได้ยาก ในที่สุดก็ต้องมีการเผชิญหน้ากันที่จะต้องใช้กำลังผลักดัน
"(หากรัฐบาลยังเพิกเฉย) ทางเครือข่ายจะมีการประชุมไม่เกินวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องแสดงท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป" นายวีระ กล่าว
ขณะที่ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม กล่าวว่า หลังจบการดีเบตเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ภาคีเครือข่ายประชาชนมีความเข้าใจในการทำหน้าที่ของนายสุวิทย์มากขึ้น แต่จริงๆ แล้วเรากลับยังไม่เข้าใจเนื่องจากนายสุวิทย์ยังไม่ได้ตอบคำถาม 1 ข้อ คือ ทำไมถึงไปลงลายเซ็นกับนายซก อาน ในการประชุมที่ผ่านมา
"ผมยอมรับมติที่นายสุวิทย์ไปลงลายเซ็นไม่ได้ ในฐานะคนไทย ผมจึงขอฉีกร่างมติประนีประนอมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 43 แล้วอย่ามาพูดเรื่องนี้กันอีกว่านายสุวิทย์บริสุทธิ์" นายเทพทนตรี กล่าว