นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมประกาศแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างครบวงจรในวันที่ 16 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายวาระประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ประกอบด้วย 1.มาตรการลดค่าครองชีพ ค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทาง 2.มาตรการประกันรายได้ และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งของเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน 3.นโยบายการจัดสรรที่ทำกินผ่านที่รัฐ ที่ราชพัสดุ และการออกโฉนดชุมชน 4.การแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยขับเคลื่อนผ่าน 4 กระทรวงที่มีรัฐมนตรีของพรรคดูแล ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งแก้ไขปัญหาหนี้ให้ทุกสาขาอาชีพ และดำเนินการควบคู่กันทั้งหนี้ในและหนี้นอกระบบ
"นโยบายทั้งหมดนี้ พรรคมีความมั่นใจว่าจะสามารถช่วยให้ประชาชนมีศักยภาพเพียงพอที่จะประกอบอาชีพ และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยการที่จะปลดหนี้สินนั้น จะทำให้ภาระครอบครัวนั้นลดน้อยลง ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กันกับการสร้างสังคมสวัสดิการ พื้นฐานที่จำเป็นที่ได้ประกาศไปแล้วภายใต้โครงการหลักประกัน 8 ประการที่ดูแลทุกช่วงชีวิต โดยพรรคจะใช้การพิจารณางบประมาณที่จะถึงในสัปดาห์หน้านี้ เป็นการวางรากฐานที่สำคัญ เพื่อที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม และความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจตามวาระประชาชนที่ได้ประกาศไว้" นพ.บุรณัชย์ กล่าว
โดยในส่วนของหนี้นอกระบบขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียน 1.2 ล้านคน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 4 แสนคน ตามที่ได้ประกาศไว้เมื่อต้นปี โดยรูปแบบของการดำเนินการนั้นจะใช้สถาบันการเงินระดับฐานราก ได้แก่ สถาบันการเงินที่มีการรวมกลุ่ม เป็นสวัสดิการออมทรัพย์ สวัสดิการชุมชน และจะสนับสนุนการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างสวัสดิการพื้นฐานร่วมกันกับกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ ควบคู่กันกับการเข้ามารองรับปัญหาหนี้นอกระบบอย่างครบวงจร
สำหรับสถาบันการเงินของรัฐจะมีการดำเนินการทั้งผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ในส่วนหนี้นอกระบบนั้นก็จะมีระบบป้องกันการกลับเข้าสู่หนี้นอกระบบ โดยการออกบัตรลดหนี้ให้ หากผู้เข้าร่วมโครงการได้มีการชำระผ่อนดอกเบี้ยต่อสถาบันการเงินของรัฐครบ 12 ปี ก็จะมีสิทธิได้รับเงินต้นคืน 50% ของยอดที่มีการผ่อนคืน ในช่วง 12 เดือนแรก โดยบัตรนี้จะสามารถเข้าไปกดเพื่อได้เงินคืน และป้องกันการกลับเข้าสู่หนี้นอกระบบได้
ส่วนกลุ่มหลักที่มีการหาผู้ค้ำประกันได้สำเร็จ 4 แสนคนนั้นจะให้ธนาคารออมสินดำเนินปลดหนี้นอกระบบ โดยการโอนหนี้เข้าสู่หนี้ในระบบ และจะให้กับผู้ที่เข้าโครงการเป็นเวลา 3 วัน โดยขยายความคอบคุมไปถึงผู้ที่ลงทะเบียนอีกประมาณ 7 แสนกว่าคน แต่ยังไม่สามารถหาผู้ค้ำประกันหรือไม่มีอาชีพที่มีรายได้ตามปกติเพียงพอที่จะเข้าสู่โครงการนั้น ก็จะมีการดำเนินการร่วมกันผ่านสถาบันการเงินของรัฐคือ บสย. เพื่อที่จะปล่อยสินเชื่อให้สามารถที่จะประกอบอาชีพได้ และร่วมกับกระทรวงแรงงาน ในการจัดหางานให้ทำ และฝึกอบรมฝีมือแรงงาน เพื่อที่จะ สามารถมีรายได้เพียงพอ ที่จะได้รับการค้ำประกัน โดย บสย. และเข้าสู่โครงการเพิ่มเติมจนครบยอด 1.2 ล้านคน
ในส่วนหนี้ของเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูกว่า 1 ล้านคน ก็จะมีโครงการในการที่จะให้ผ่อนชำระใน 15 ปี โดยลดเงินต้น 50 % และเวลาการผ่อนปลอดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่เป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูได้
ส่วนปัญหาหนี้สินครูซึ่งขณะนี้จากจำนวนครู 7 แสนกว่าคน เป็นหนี้เกือบ 4 แสน รัฐบาลจะแก้ปัญหาโดยดำเนินการผ่าน 3 กลไก ได้แก่ 1.กองทุนแก้ไขหนี้สินครูมีผู้เข้าร่วมโครงการ 5 หมื่นคน 2.ดำเนินการผ่านธนาคารออมสินมีผู้เข้าร่วมโครงการ 1.5- 2 แสนคน และ 3. สหกรณ์ออมทัพย์ครูซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วม 3 แสนคน เพื่อจะปลดเปลื้องหนี้สินของผู้ประกอบวิชาชีพ ด้านครูให้สามารถเป็นแม่พิมพ์ของชาติได้อย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนนี้เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษา และกระทรวงการคลัง
อีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จะดำเนินการขับเคลื่อนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้นำร่องในกรุงเทพฯ ซึ่ง ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ได้ดำเนินการภายใต้โครงการยิ้มสู้กู้ สร้างอาชีพ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยการจัดหาแหล่งเงินกู้ ให้กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพจักรยายนต์รับจ้าง ข้าราชการ กลุ่มอาชีพหาบเร่ แผงลอย โดยจะเป็นรูปแบบการดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนอื่นๆ ด้วย