นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เผยเตรียมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 หมวด 1 ส่วน 1 และมาตรา 34(2) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 301 และ 302 หรือไม่ เนื่องจากการแต่งตั้งคณะกรรมการและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ถูกงดการใช้บังคับโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ฉบับที่ 29 ข้อ 1 จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกนั้น อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 302(2) บัญญัติให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไป
"ตอนนี้ผมทำเอกสารเสร็จแล้ว ก็ขอให้ ส.ว.ที่สงสัยมาลงชื่อเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป" นายเรืองไกร กล่าว
เนื่องจากมีปัญหาว่าคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.เพราะมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ จะสามารถทำหน้าที่ผู้ว่าการ สตง.ต่อไปได้อีกหรือไม่ เพราะมีความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา เห็นว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ มิต้องนำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 34 (2) มาใช้บังคับ ควรถือว่าผู้ว่าการ สตง.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ คตง.และผู้ว่าการ สตง.ไปพลางก่อนได้ โดยไม่มีระยะเวลาเรื่องอายุมากำหนด ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ผู้ว่าการ สตง.ตามความในประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วและสามารถปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนได้เพียง 90 วันนับจากวันที่ครบวาระตามประกาศ คปค.ข้อ 2 คือ วันที่ 30 ก.ย.50 ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติราชการของส่วนต่างๆ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 245(1) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า
ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมของวุฒิสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้หารือกรณีฝ่ายบริหารอาจแทรกแซงองค์กรอิสระโดยใช้คณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเฉพาะคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ที่ให้ความเห็นทางกฎหมายที่ไม่ถูกต้องในหลายครั้ง เช่น กรณีมาบตาพุดที่ต่อมาศาลปกครองวินิจฉัยว่า การดำเนินงานของฝ่ายบริหารไม่ถูกต้อง หรือกรณีผู้ว่าการ สตง.ที่มีความเห็นว่าให้รักษาการตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 หลังจากวันหมดวาระวันที่ 30 ก.ย.50 ออกไปได้อีก 90 วัน ซึ่งอาจมีปัญหา เพราะกรณีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ชุดก่อน เมื่อพ้นวาระก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้กรรมการชุดใหม่ เพื่อไม่ให้งานสะดุดหยุดลง นอกจากนี้หากใช้มาตรการนี้เป็นบรรทัดฐาน ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 117 และ 118 เกี่ยวกับการพ้นวาระของ ส.ว. ซึ่งกำหนดว่าต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ฉะนั้นหากใช้เกณฑ์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส.ว.ที่หมดวาระก็จะอยู่รักษาการได้ 60 วันเท่านั้น ซึ่งจะมีปัญหาการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ
หลังจากนั้น นายเรืองไกรได้หารือว่า กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปให้คุณหญิงจารุวรรณ ทำให้ถูกอ้างเป็นเหตุผลในหนังสือเวียนใน สตง.ว่า จะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้นายไพบูลย์พูดในที่ประชุมวุฒิสภาว่ายินดีให้ตรวจสอบว่าเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงฝ่ายราชการที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 หรือไม่
ซึ่งต่อมานายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าเมื่อได้รับผลการศึกษาของคณะกรรมการฯ ก็ไม่ได้สั่งการให้ดำเนินการอะไรต่อไป เพียงแต่รับทราบเฉยๆ และต่อมาได้เดินทางไปราชการยังต่างประเทศ ขณะนั้นคุณหญิงจารุวรรณก็ส่งหนังสือสอบถามมายังนายไพบูลย์โดยตรงในวันที่ 21 ก.ค.53 และนายไพบูลย์ก็ตอบกลับไปในวันเดียวกัน ต่อมายังมีคณะกรรมาธิการสามัญบางคณะของวุฒิสภาได้ใช้อำนาจเรียกผู้บริหารระดับสูงของ สตง.มาชี้แจงในเรื่องนี้จึงอาจเข้าข่ายก้าวก่ายแทรกแซงราชการ