ประธานวุฒิสภาปฏิเสธที่จะดำเนินการสรรหาผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ใหม่ตามข้อเสนอแนะของรัฐบาล โดยยืนยันที่จะรอให้มีกระบวนการตรากฎหมายใหม่ออกมาก่อนแล้วจึงจะเดินหน้าตามขั้นตอนเท่านั้น ส่วนปัญหาเรื่องรักษาการเก้าอี้ผู้ว่าการ สตง.จะเป็นของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา หรือรองผู้ว่าการ สตง.นั้นศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นผู้ชี้ขาดได้
"ไม่ว่า ครม.จะพูดอะไร เราไม่ฟัง หากจะทำก็จะดำเนินการเอง คนอื่นมาสั่งไม่ได้ เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจของฝ่ายเลขาฯ ที่จะดำเนินการ ซึ่งจะเชิญกรรมการสรรหาฯ มาร่วมพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป" นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าว
ประธานวุฒิสภา คาดว่า ในสัปดาห์หน้า นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะบรรจุร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากสภาฯ ยืนยันตามที่วุฒิสภาเสนอขอแก้ไขก็สามารถใช้บังคับและดำเนินการสรรหา คตง.และผู้ว่าการ สตง.ได้เลย แต่ถ้ากฎหมายมีอันต้องตกไปก็ต้องเสนอเข้ามาใหม่ ซึ่งตนเองก็จะเชิญคณะกรรมการสรรหาฯ มาพิจารณาใหม่ว่าจะเห็นเป็นอย่างไร
ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เท่าที่ทราบคณะกรรมการสรรหาฯ จะรอให้ได้ข้อยุติในเรื่องร่างกฎหมายก่อน จากนั้นอาจมีมติเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสามารถดำเนินการสรรหาได้ตามกฎหมายเก่า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาฯ ส่วนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นแค่คำปรึกษาที่ไม่มีผลผูกพัน จะมีผลผูกพันแค่องค์กรเดียวเท่านั้นคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับรักษาการผู้ว่าการ สตง.ระหว่างคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา กับนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการฯ นั้น ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เรื่องนี้หากจะให้ได้ข้อยุติก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าใครควรทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการฯ ที่แท้จริง
ทั้งนี้ คุณหญิงจารุวรรณอ้างความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภาที่จะทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.ต่อไปจนกว่าจะสรรหาผู้ว่าการฯ คนใหม่ ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่าคุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากเก้าอี้ไปแล้ว
"เช่นเดียวกับความเห็นของกฤษฎีกาที่ไม่สามารถนำไปอ้างอิงอะไรได้ เพราะไม่มีผลผูกพันกับองค์กรใด ดังนั้นผู้สั่งการก็ต้องรับผิดชอบเอง ถ้าจะให้ได้ข้อยุติก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าใครทำหน้าที่รักษาการที่แท้จริง" นายประสพสุข กล่าว