"ไพบูลย์"คาดปัญหาตำแหน่งผู้ว่าฯสตง.ของ"คุณหญิงจารุวรรณ"จะจบใน 30 ก.ย.

ข่าวการเมือง Friday August 20, 2010 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตัวแทนสมาพันธ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 40 หน่วยงาน รวมตัวมอบดอกไม้ให้กำลังใจนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา กรณีออกมาคัดค้านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่มีความเห็นทางกฎหมายว่าคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.ไปแล้วเนื่องจากอายุครบ 65 ปี

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การที่นายพิศิษฐ์ และผู้บริหารระดับ 10 ของสตง. อีก 7 คน ที่มีมติร่วมกันออกหนังสือเวียนว่าคำสั่งต่างๆ ที่คุณหญิงจารุวรรณ ทำออกมาไม่มีสภาพและอำนาจใดๆ ที่ข้าราชการ สตง.ต้องปฏิบัติตามว่า เรื่องดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะคำวินิจฉัยถึงที่สุดต้องออกมาจากศาล ดังนั้นจะไปยึดความเห็นทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้น่าจะได้ข้อยุติวันที่ 30 ก.ย.53 เพราะข้าราชการระดับ 10 ดังกล่าวจะเกษียณอายุ 6 คน เหลือนายพิศิษฐ์ คนเดียว ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณ สามารถใช้อำนาจในฐานะประธานคตง. แต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 ขึ้นมาทดแทนได้ ส่วนระดับ 9 ที่จะเลื่อนขึ้นมาจากระดับ 8 ก็สามารถแต่งตั้งขึ้นมาทดแทนตามแผนพัฒนาองค์กร ซึ่งจะทำให้งานของสตง.เดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่คุณหญิงจารุวรรณสามารถรักษาการในตำแหน่งประธานคตง.ได้เนื่องจากอายุยังไม่ถึง 70 ปี

นายไพบูลย์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ยังไม่มติเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ให้อนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริตและตรวจสอบภาครัฐที่ตนเป็นประธาน ศึกษาวิจัยหาแนวทางการปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลด้วย หลังจากที่ให้ความเห็นทางกฎหมายกรณี สตง.ทั้งที่ไม่มีอำนาจตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีที่ส.ว. 17 คนนำโดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เข้าชื่อยื่นถอดถอนนายไพบูลย์ ด้วยข้อกล่าวหาแทรกแซงฝ่ายราชการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 กรณีที่ส่งความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯ ไปให้คุณหญิงจารุวรรณว่า เรื่องนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ ส.ว.ลงชื่อถอดถอนกันเอง ฉะนั้นขอให้ ส.ว.ที่ลงชื่อดูข้อกฎหมายให้ดี เพราะการเข้าชื่อถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 271 ต้องมีข้อกล่าวหาระบุพฤติกรรมเป็นข้อว่ากระทำผิดอย่างร้ายแรงอย่างไรบ้าง แต่ที่ยื่นกันเป็นแค่ข้อสงสัย ทั้งนี้การยื่นถอดถอนต้องมีความรับผิดชอบด้วย เพราะคนที่ถูกยื่นได้รับความเสียหายทางสังคมแล้ว

"การยื่นตรวจสอบกันเป็นเรื่องดี แต่ต้องมีหลักฐานชัดเจนด้วย ไม่ใช่ยื่นกันเหมือนเป็นเกมการเมือง คนยื่นก็ต้องระวังโดนตรวจสอบกลับด้วย เพราะหาไม่ยาก วันดีคืนดีอาจจะมีคนสงสัยเรื่องเงินจำนวนหนึ่งหรือธุรกิจอันหนึ่งบ้างก็ได้" นายสมชาย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ