วงเสวนาของคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา เรื่อง"ก้าวต่อไปประเทศไทย:การเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม" ถล่มรัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง แต่หวังใช้เงินหว่านเพื่อสยบความเคลื่อนไหว โดยเสนอแนะรัฐบาลเปิดเวทีให้กลุ่มคนเสื้อแดงระบายความในใจ ขณะที่แกนนำฯ ย้ำรัฐบาลปฏิบัติสองมาตรฐาน
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ในฐานะกรรมการฯ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการกับผู้ได้รับผลกระทบในเรื่องเชิงกายภาพทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ชุมนุมและครอบครัวที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจะได้รับการรักษาพยาบาลและค่าทำศพ ส่วนกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์การชุมนุม คือ นายจ้างและลูกจ้างจะได้รับเงินค่าช่วยเหลือชดเชยซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้
"เรื่องความคิดและจิตใจโดยเฉพาะข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลของคนเหล่านี้กลับไม่ได้ดูแลแก้ไข แถมยังยัดเยียดความผิดให้ ทำให้เกิดความคับแค้นใจยิ่งขึ้น" นายวิชาญ กล่าว
นายวิชาญ กล่าวว่า ความสูญเสียในจิตใจที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ กลับปล่อยให้มีคณะกรรมการ 2-3 ชุด ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ใส่ใจ ดังนั้นรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีต้องลงมาดู โดยเปิดเวทีให้เขาระดมความเห็น สิ่งที่เขาต้องการคือความยุติธรรม แต่เมื่อไม่มีความยุติธรรม ความปรองดองสมานฉันท์จะเกิดขึ้นยาก
"จะเสนอคณะกรรมการฯ ว่าในการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อมีเหตุการณ์จะต้องเปิดเวทีเพื่อให้ตัวแทนได้มาพูดคุย อย่าปิดกั้นหรือเลือกกลุ่ม รวมถึงการเปิดเวทีทางสื่อไม่ใช่ไปตอกย้ำสร้างความคับแค้นให้เขาเพิ่มขึ้นอีก" นายวิชาญ ลก่าว
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ยากจริงๆ เพราะเล่นกันเป็นระบบปล้นความยุติธรรม อย่างกรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีเจตนาขับรถชนตำรวจกลับได้รับการรอลงอาญา แต่คดีของกลุ่มเสื้อแดงวันนี้ถูกขังลืมอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ
"เขาคงเข้าใจว่าฆ่าครั้งนี้เพื่อสร้างความเข็ดหลาบ แต่ไม่ใช่เพราะยิ่งกลายเป็นความร้าวลึก บอกได้เลยว่าวันนี้เสื้อแดงไม่ได้ลดลงไปแม้แต่คนเดียว และผมที่ถูกข้อหาเป็นผู้ก่อร้ายยังเดินตามห้างได้ แต่ถามว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯเดินแบบนั้นได้หรือไม่" นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร กล่าวว่า วันนี้การตั้งข้อกล่าวหาการสอบสวนถูกบิดเบือนไปหมด คงอยากพิสูจน์ว่าประเทศนี้เขาทำอะไรก็ได้ ฆ่าคนตายก็ได้ไม่เป็นอะไร แต่ขอบอกว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือรัฐบาลนึ้ใช้สถาบันเปลืองเกินไป ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดจนกลายเป็นการทำลายสถาบันโดยรัฐบาลเอง
"ถ้าวุฒิสภามีเวลาอยากให้ไปทำประวัติของผู้ที่เสียชีวิต 91 ศพว่าใครเป็นใครกันบ้าง จะได้รู้ว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย และยังเป็นการเยียวยาหัวใจของเขา จะได้ไม่เป็นตราบาปว่าเป็นผู้ก่อการร้าย รวมทั้งผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 ราย จะได้รู้ว่าเขาเข้ามาชุมนุมเพราะอะไร เพราะการเยียวยาที่ดีที่สุดคือการแสวงหาความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม" นายจตุพร กล่าว
ขณะที่นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ดูจากท่าทีและบทบาทของนายกฯ ที่ผ่านมาเห็นว่าท่านต้องแสดงความจริงใจที่จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมให้มากกว่านี้ อย่างน้อย 80-90 ครอบครัวที่ตายไปหรืออีกกว่า 2,000 ครอบครัวที่ญาติของเขาได้รับบาดเจ็บ
"ท่าน(นายกฯ)ควรจะไปนั่งคุยสอบถามเขาบ้าง แต่เท่าที่ดูรัฐบาลไม่เคยคิดจะทำ ซึ่งดิฉันจะยกขึ้นมาหารือต่อคณะกรรมการฯ เสนอให้สร้างเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่พวกเขาว่าจะได้รับการเยียวยาและความเป็นธรรมอย่างแท้จริง การได้รับการปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมที่เหมือนกัน เพราะถ้าจะให้รัฐบาล ซึ่งเสมือนเป็นคนตีหัวพวกเขาให้แตก และจะมาออกมาตรการเยียวยาก็คงไม่สนิทใจ ขณะที่สารพัดคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาไม่เห็นพูดถึงในเรื่องเหล่านี้ จึงทำให้การเยียวยาและรับฟังปัญหาของเขา ไม่ตรงกับใจและจิตวิญญาณ" นางนฤมล กล่าว
ส่วนกรณีที่กลุ่ม 40 ส.ว.จะยื่นเรื่องต่อนายกฯ ขอให้โอนคดีกลุ่มพันธมิตรฯบุกยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิไปให้ดีเอสไอดำเนินการนั้น นางนฤมล กล่าวว่า มีคำถามคือวันนี้ดีเอสไอมีน้ำหนักและความน่าเชื่อขนาดไหน เป็นกลางพอหรือไม่ ถือเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่เช่นนั้นเราก็คงต้องต่อสู้เพราะเห็นความไม่เป็นธรรม ขอถามว่ากลุ่ม 40 ส.ว.กำลังทำอะไรอยู่ เป็นหน้าที่ของ ส.ว.หรือที่จะไปกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน
"ดิฉันรู้สึกไม่สลายใจ และจะยังรู้สึกไปยังกลุ่มผู้สูญเสียจากการชุมนุมว่าสังคมนี้ไม่มีความยุติธรรมแล้วหรือ ที่ผ่านมาเคยเรียกร้องอยากได้คนดีเป็นผู้นำแล้ววันนี้ผู้นำมีมโนธรรมในระดับสูงแค่ไหน" นางนฤมล กล่าว