โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ทำหนังสือถึงประธานอาเซียนเพื่อชี้แจงกรณีรัฐบาลกัมพูชาขอให้อาเซียนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับไทยอันเป็นผลพวงต่อเนื่องจากกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยยืนยันปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ในระดับทวิภาคีด้วยสันติวิธี พร้อมทั้งเวียนหนังสือดังกล่าวให้บรรดา รมว.ต่างประเทศของอาเซียนได้รับทราบด้วย
"นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือถึงนาย Pham Gia Khiem รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนแล้ว รวมทั้งได้เวียนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบด้วย" น.ส.วิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุในเว็บไซต์
โดยหนังสือที่ รมว.ต่างประเทศของไทยส่งถึงประธานอาเซียนมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ไทยขอขอบคุณในความห่วงใยและความเข้าใจของอาเซียนในเรื่องนี้ และยืนยันว่าไทยยึดมั่นที่จะใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างที่สุด และมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาทวิภาคีกับกัมพูชาโดยใช้สันติวิธีและด้วยความสุจริตใจผ่านช่องทางทวิภาคี และเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงทวิภาคีที่มีอยู่ รวมทั้งได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ระบุไว้ในหนังสือของฝ่ายกัมพูชาว่าไม่มีมูลความจริง
แม้จะดูเหมือนว่ามีความตึงเครียดเกิดขึ้น แต่การติดต่อระหว่างไทยกับกัมพูชายังคงดำเนินต่อไปผ่านช่องทางและกลไกต่างๆ โดยไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งสองประเทศยังคงร่วมมือกันในกรอบความร่วมมือต่างๆ ในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาค และภูมิภาค และกิจกรรมต่างๆ บริเวณชายแดนก็ดำเนินไปตามปกติ
ส่วนการดำเนินการแก้ไขปัญหานั้น คณะรัฐมนตรีได้เสนอบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(JBC) ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขณะนี้เรื่องจึงอยู่กับรัฐสภาและจะดำเนินไปตามขั้นตอนของกระบวนการประชาธิปไตยของไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้หลักประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและคุ้มครองสิทธิในการเสนอความเห็นที่อาจแตกต่างกันได้จึงไม่ควรมองไปว่าเป็นการจงใจถ่วงเวลา
พร้อมกันนี้ รมว.ต่างประเทศ ยังแสดงความมั่นใจว่า ไทยและกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน จะสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งในปัจจุบันเพื่อประโยชน์ของประเทศทั้งสองและประชาชนของทั้งสองประเทศไปได้บนพื้นฐานของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน ทั้งนี้กระบวนการในระดับทวิภาคีควรจะต้องดำเนินการต่อไป ดังที่อาเซียนได้เคยแสดงเจตจำนงไว้เมื่อครั้งที่ได้หารือกันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อสองปีที่แล้ว