ส.ว.เปิดศึกตรวจสอบกันเอง จี้ป.ป.ช.ฟันธงก่อน"ประสพสุข"พ้นจากประธานวุฒิฯ

ข่าวการเมือง Monday August 23, 2010 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ขอหารือในการประชุมวุฒิสภาถึงกรณีการตรวจสอบกันภายในวุฒิสภา หลังมีข่าวว่ามี ส.ว. 2 คน ต้องการตรวจสอบธุรกรรมการเงินของตนจำนวน 25 ล้านบาท ซึ่งนายเรืองไกร ระบุว่า ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตรวจสอบแล้ว หากส.ว.คนใดต้องการจะตรวจสอบอีกก็ยินดี

พร้อมกับขอให้เร่งกระบวนการตรวจสอบวุฒิสภาของ ป.ป.ช. เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาการตรวจสอบทำได้ล่าช้ามาก เช่นกรณีข่าวการให้สินบนเงิน 1 ล้านบาท และรถเบนซ์ในคราวเลือกตำแหน่งประธานวุฒิสภา ซึ่งขณะนี้ผ่านไป 2 ปีกว่าแล้ว และเห็นว่าควรดำเนินการให้เสร็จก่อนนายประสพสุข จะลงจากตำแหน่งในช่วงปลายปีหลังสถานการณ์บ้านเมืองสงบตามที่ประกาศไว้

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา กล่าวว่า วุฒิสภามีหน้าที่ตรวจสอบคนอื่นก็ต้องพร้อมตรวจสอบตนเองด้วย ที่ผ่านมายังไม่ได้ตรวจสอบส.ว.กันเองเท่าใดนัก เนื่องจากยังไม่มีคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา และข้อ 14 และ 15 ของประมวลจริยธรรมวุฒิสภา กำหนดว่า สมาชิกต้องให้เกียรติ และเคารพในความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ตรวจสอบของสมาชิก

แต่ขณะนี้มี 17 ส.ว. ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภา กล่าวหาว่าตนผิดรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 266 กรณีส่งบันทึกความเห็นทางกฎหมายให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา รักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(ผู้ว่าการสตง.) ซึ่งตนมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิด แต่เมื่อยื่นเรื่องมาก็ยินดีเข้าสู่ระบบการถูกตรวจสอบได้ พร้อมขอให้นายประสพสุข เปิดเผยรายชื่อ 17 ส.ว.ด้วย เนื่องจาก ส.ว.หลายคนต้องการทราบ

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา ได้หารือปัญหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) โดยระบุว่า ขณะนี้มีความสับสนในสังคมและในสตง.เองว่าใครมีอำนาจสั่งการในสตง. เพราะกรรมการปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา และคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความไม่ตรงกัน ซึ่งผู้มีอำนาจทั้ง 2 คนในสตง. (คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าฯ สตง.และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าฯสตง.)ต่างก็ยกความเห็นที่ต่างกันมาอ้าง ขณะที่ยังมีปัญหาว่าคณะกรรมการกฤษฎีกามีอำนาจตีความปัญหากฎหมายในองค์กรอิสระได้หรือไม่

ดังนั้น ทางที่ดีรัฐบาลควรจะเร่งบรรจุร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่วุฒิสภาตีตกเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณายืนยัน เพราะหากเห็นชอบจะได้ประกาศบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ เพราะปัญหาเรื่องผู้มีอำนาจสั่งการใน สตง.หากปล่อยทิ้งไว้นาน จะมีผลกระทบต่อการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณประเทศได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ